ขนาด
ระบบนิเวศเนินทรายบางเบิด
  • 3 สิงหาคม 2566
  • 1,017

ระบบนิเวศเนินทรายบางเบิด (2564)

​          เนินทรายบางเบิด อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร เป็นเนินทรายชายฝั่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีระยะทางยาวประมาณ 10 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่กว่า 2,000 ไร่ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลสูงสูดถึง 30 กว่าเมตร มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการก่อกำเนิดของเนินทรายบางเบิด เป็นตัวอย่างวิวัฒนาการและกระบวนการชายฝั่งที่สำคัญ ที่ไม่พบในบริเวณอื่นของประเทศ กล่าวคือ เป็นเนินทรายที่เกิดจากลมที่พัดเอาทรายแห้งบริเวณหน้าหาดขึ้นมาเป็นเนิน และพอกพูนเพิ่มมากขึ้น ขณะที่บางช่วงเวลาจะทำหน้าที่เป็นแหล่งทรายให้กับชายหาด ทำให้ชายฝั่งตลอดทั้งชายหาดบางเบิดไม่ถูกกัดเซาะ

​          นอกจากนี้ บริเวณเนินทรายบางเบิดยังพบลักษณะเด่นที่สำคัญ คือ สังคมพืชชายฝั่ง สังคมพืชบนเนินทรายชายฝั่งบริเวณบ้านถ้ำธง อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ต่อเนื่องกับบริเวณบ้านบางเบิด อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นสังคมพืชที่มีความเฉพาะ เนื่องจากเนินทรายที่เกิดจากลมตามชายฝั่งนั้น ปัจจุบันถูกใช้ประโยชน์เกือบทั้งหมด เนินทรายชายฝั่งในบริเวณดังกล่าว ยังคงสภาพตามธรรมชาติ ตั้งแต่เนินทรายแรก (fore dune) ถัดจากเขตน้ำขึ้นน้ำลง เนินทรายก่อกำเนิด (embryo dune) ขนาดใหญ่ ที่ยังถูกกระแสลมเปลี่ยนรูปร่างได้ตลอดเวลาเพราะยังไม่เสถียร จะเห็นว่าการทดแทนของสังคมพืชมีการทดแทนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา พันธุ์ไม้มีลักษณะเป็นพุ่ม แคระ งดงาม แต่ยังคงเปลี่ยนแปลง มีการทดแทนกันเกิดตลอดเวลาตามธรรมชาติเป็นปกติ จนถึงเนินทรายด้านหลังที่ค่อนข้างเสถียรมีพันธุ์ไม้ขนาดใหญ่และหลากชนิดขึ้น ตลอดจนมีที่ลุ่มระหว่างเนินทรายต่อเนื่องไปจากเนินทรายนั้น ซึ่งเคยมีพันธุ์ไม้เฉพาะที่น่าสนใจเช่นพวกพืชกินแมลง หรือในที่ลุ่มระหว่างเนินทรายบางแห่งที่มีน้ำขัง เกิดสภาพพรุ พบพันธุ์ไม้น่าสนใจเช่นบริเวณวัดถ้ำธง พบเอื้องโมกพรุ (Papilionanthe hookeriana (Rchb.f.) Schltr.) ซึ่งไม่มีรายงานว่าพบตามธรรมชาติอีกแล้วนอกจากในบริเวณนี้เท่านั้น

​          อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจสถานภาพทางนิเวศเบื้องต้น พบว่า พรรณไม้สำคัญของสังคมพืชชายหาดบริเวณนี้กำลังถูกคุกคามจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์จากโครงการที่ผ่านมา ทั้งจากการปรับสภาพเนินทรายเพื่อสร้างถนน การท่องเที่ยว และการถูกรุกรานจากพรรณไม้ต่างถิ่น เช่น การปลูกสนทะเล และกระถินเทพา ตามแนวชายฝั่ง ซึ่งนอกจากจะเป็นการทำลายการทดแทนของสังคมพืชพื้นเมืองที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพราะใบสนทะเลจะทับถมกันบริเวณหน้าดิน และสนทะเล และกระถินเทพา ยังปล่อยสารเคมีที่เป็นพิษยับยั้ง (alleropathic agent) มาห้ามการเจริญของพืชอื่นด้วย นอกจากนี้ ต้นสนจะบังแนวลม ทำให้ความเร็วของลมที่เคยพัดเข้าสู่เนินทรายเปลี่ยนไป ย่อมมีผลต่อการเข้ายึดครองพื้นที่ของพืชพื้นเมือง เพราะพลวัตของเนินทรายที่เคยเกิดขึ้นตามธรรมชาติจากลมย่อมหยุดลง ขนาดเม็ดทรายที่ลมพาก็เปลี่ยนไป ที่สุดเสมือนหนึ่งเนินทรายนั้นตายลงไป

​          นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2563 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และมูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำไทยได้สำรวจแหล่งวางไข่ของนกหัวโตมาลายู (Malaysian Plover) Charadrius peronii ซึ่งเป็นนกชายเลนเพียงชนิดเดียวที่ต้องทำรังวางไข่อยู่บนหาดทราย พบได้ตั้งแต่หาดทรายแหลมหลวงหรือแหลมผักเบี้ยยาวลงไปทางภาคใต้ด้านอ่าวไทยและอันดามัน โดยคัดเลือกพื้นที่สำรวจทั้งหมด 10 หาด โดยใช้ปัจจัยคุกคาม 7 ปัจจัย วิเคราะห์ขนาดเม็ดทรายที่นกใช้เป็นที่ทำรังวางไข่ วิเคราะห์สัตว์หน้าดิน ในจุดที่น้ำขึ้นสูงสุด ในจุดที่อยู่ระหว่างน้ำขึ้น-น้ำลง และในจุดที่น้ำลงต่ำสุด ซึ่งผลการศึกษาพบว่า หาดบางเบิดเป็นหาดทรายที่นกหัวโตมลายู มีการกระจายพื้นที่ทำรังบนพื้นทรายที่ปลอดภัยมากที่สุด และลูกนกมีโอกาสเจริญเติบโตเป็นนกวัยหนุ่มได้มากที่สุด จากจำนวน 10 หาด ที่สำรวจ

​          เนินทรายบางเบิด จึงเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะเด่นเป็นหนึ่งเดียวของประเทศไทย ที่จักต้องดูแล รักษา ส่งเสริมให้เป็นพื้นที่ศึกษาเรียนรู้การวิวัฒนาการของทรายกับกระแสลม ทั้งนี้ นกหัวโตมลายู คือดัชนีบ่งชี้ความรุนแรงของภัยคุกคามที่เกิดขึ้นในพื้นที่หาดทราย การดูแล ปกป้อง หาดทรายชายฝั่งที่เหลืออยู่ไม่มากของประเทศไทย จึงเท่ากับเป็นการ “ธำรงรักษาความหลากหลายระบบนิเวศหาดทราย” ให้เป็นแหล่งอาศัยของพืชและสัตว์เฉพาะถิ่น ที่สำคัญทางเศรฐกิจและระบบนิเวศไปพร้อม ๆ กัน

​          ในปีงบประมาณ 2563 – 2567 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่มีภารกิจโดยตรงในการดูแลพื้นที่ทางธรรมชาติ จึงเห็นสมควรเป็นอย่างยิ่ง ในการเข้าไปคุ้มครองดูแลพื้นที่แห่งนี้ตามหลักวิชาการป่าไม้ โดยการประกาศจัดตั้งเป็นสวนรุกขชาติ โดยมีจุดมุ่งหมายในการให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุกรรมพืชในสังคมพืชเนินทราย-ป่าชายหาด-ป่าพรุ ให้คงสภาพตามธรรมชาติไว้ไห้มากที่สุด เป็นแหล่งรวบรวมพรรณไม้ในท้องถิ่นทั้งพืชมีค่า พืชหายากใกล้สูญพันธุ์ หรือพืชที่มีการใช้ประโยชน์ในท้องถิ่นนั้น ๆ ซึ่งสวนแห่งนี้มีภารกิจในการช่วยอนุรักษ์พืชประจำถิ่นของจังหวัดชุมพร และภาคใต้ตอนบน ตลอดจนเป็นพื้นที่เพื่อพักผ่อนหย่อนใจ นันทนาการ รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศให้ความรู้ทางด้านป่าไม้ และพฤกษศาสตร์ในระดับท้องถิ่น แก่ผู้ที่สนใจ นักเรียน นักศึกษา เยาวชน และบุคคลทั่วไปอีกด้วย นอกจากนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ยังเตรียมการออกกฎกระทรวงตามมาตรา 21 เพื่อคุ้มครองชายฝั่งเนินทรายบางเบิดเพื่อป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอีกด้วย

​          ปัจจุบันกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามีโครงการพัฒนาเนินทรายงามให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ตามเส้นทางท่องเที่ยว Scenic Route โดยเริ่มมีการปรับเปลี่ยนสภาพพื้นที่บางบริเวณ หากบริเวณนี้มีการบริหารจัดการที่ไม่สอดคล้องกับสภาพทางนิเวศวิทยาที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา เนินทรายและสังคมพืชที่หายากที่สุดแห่งหนึ่งของเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนแหล่งวางไข่ที่สำคัญที่สุดของนกหัวโตมาลายูในบริเวณเนินทรายบริเวณนี้ย่อมสูญเสียไปในที่สุด

ระบบนิเวศเนินทรายบางเบิด และการพัฒนาพื้นที่เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

ข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่เนินทรายบางเบิด
          - เพื่อเป็นการรักษาพื้นที่ชายฝั่งเนินทรายบางเบิด ซึ่งเป็นเนินทรายชายฝั่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ ควรออกกฎกระทรวงให้เป็นพื้นที่คุ้มครองจากกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนพื้นที่ได้ในอนาคต

ปรับปรุงข้อมูล ณ วันที่ 3 สิงหาคม 2566
องค์ความรู้ที่น่าสนใจ
  • วาฬบรูด้า
    วาฬบรูด้า
  • ป่าชายเลน
    ป่าชายเลน
  • หาดในประเทศไทย
    จากการสำรวจแหล่งธรรมชาติประเภทหาดทรายทั่วประเทศ ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปี 2560 พบว่ามีชายหาดรวม 521 แห่ง กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ 21 จังหวัด โดยอยู่ทางฝั่งอ่าวไทย 360 แห่ง แบ่งเป็นชายหาดที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ (กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช) 49 แห่ง อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่นๆ เช่น ท้องถิ่น กองทัพเรือ และส่วนราชการอื่นๆ อีก 311 แห่ง สำหรับข้อมูลชายหาดฝั่งทะเลอันดามัน พบว่ามีชายหาด 161 แห่ง อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ 78 แห่ง นอกเขตอุทยานแห่งชาติ 83 แห่ง
  • แมงกะพรุนพิษ
    เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง จัดอยู่ในไฟลัมไนดาเรีย (Cnidaria) เช่นเดียวกันกับดอกไม้ทะเล (sea anemones) และปะการัง แมงกะพรุนที่พบได้บ่อยที่สุดจัดอยู่ในกลุ่ม Scyphozoa
  • หญ้าทะเล
    หญ้าทะเล
  • ที่ดินชายฝั่ง
    ที่ดินชายฝั่ง
  • กัดเซาะชายฝั่ง
    ประเทศไทยมีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 3,151 กิโลเมตร ครอบคลุมจังหวัดชายฝั่งทะเล 23 จังหวัดโดยชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย มีความยาว 2,040 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัด และชายฝั่งทะเลด้านอันดามัน มีความยาว 1,111 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเลรวม 6 จังหวัด
  • ปูเสฉวนบก
    ปูเสฉวนบก
  • เต่ามะเฟือง
    เต่ามะเฟือง