ขนาด
ระบบนิเวศอ่าวพังงา
  • 3 สิงหาคม 2566
  • 1,168

ระบบนิเวศอ่าวพังงา (2564)

          อ่าวพังงา เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางนิเวศในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านความหลากหลายทางชีวภาพ การเป็นแหล่งอนุบาล และแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเล มีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ มีทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่สำคัญ คือ เกาะภูเก็ตทางฝั่งตะวันตก มีหาดไม้ขาว ซึ่งเป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเล และถิ่นที่อยู่อาศัยของจักจั่นทะเล โดยมีแนวปะการังริมฝั่ง และบริเวณเกาะสำคัญที่เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเล เช่น กลุ่มเกาะราชา เกาะเฮ กลุ่มเกาะพีพี หมู่เกาะห้า กองหินแดงหินม่วง เป็นต้น มีแหล่งหญ้าทะเลผืนใหญ่บริเวณกลุ่มเกาะศรีบอยาซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของพะยูน และหญ้าทะเลกระจายตามชายฝั่งทางตะวันออกของเกาะภูเก็ต นอกจากนี้ยังมีป่าชายเลนผืนใหญ่บริเวณอ่าวพังงา ทั้งในบริเวณอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี และบริเวณเกาะลันตา ขณะที่กลุ่มเกาะเขาหินปูนหลายเกาะในอ่าวพังงามีความสำคัญทางด้านธรณีวิทยาและประวัติศาสตร์โบราณที่ปรากฏภาพเขียนสีโบราณหลายบริเวณ 

ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่อ่าวพังงา
          อ่าวพังงา เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม พื้นที่ประกอบด้วย ภูเขาสูง ที่ราบ เนินต่าง ๆ มีแม่น้ำลำคลองหลายสายไหลลงสู่อ่าวพังงา มีเกาะเล็ก ๆ กระจายในพื้นที่ มีป่าชายเลนที่มีสภาพสมบูรณ์ และมีอยู่ปริมาณมาก มีความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้อ่าวพังงาอุดมสมบูรณ์ ไปด้วยทรัพยากรชายฝั่ง เป็นแหล่งว่างไข่ และแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน และสัตว์น้ำนานาชนิด นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญทางฝั่งทะเลอันดามันเนื่องจากมีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลายและสวยงาม โดยมีทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่สำคัญ ได้แก่

          1) แนวปะการัง ประกอบด้วย 1) จังหวัดภูเก็ต มีสถานภาพแนวปะการังโดยรวมสมบูรณ์ปานกลาง โดยมีแนวปะการังที่มีสถานภาพสมบูรณ์ดีมาก-ดี ได้แก่ เกาะแก้วใหญ่ เกาะนาคาใหญ่ เกาะไม้ท่อน เกาะรังใหญ่ เกาะราชาใหญ่ (อ่าวทือ และอ่าวปะตก) เกาะเฮ บ้านเขาขาด เกาะตะเภาใหญ่ เกาะปลิง เกาะราชาน้อย เกาะโหลน อ่าวกะตะใหญ่ และอ่าวป่าตองด้านเหนือ 2) จังหวัดกระบี่ สถานภาพแนวปะการังโดยรวมสมบูรณ์ปานกลาง มีแนวปะการังที่มีสถานภาพสมบูรณ์ดีมาก-ดี ได้แก่ เกาะปอ เกาะรอก เกาะห้า เกาะแดง เกาะไก่ เกาะไผ่ เกาะปู เกาะศรีบอยา เกาะห้า เกาะม้า เกาะยูง อ่าวมาหยา เกาะฮันตู เกาะกามิด เกาะผักเบี้ย และเกาะห้อง (อ่าวเล็ก) เป็นต้น และ 3) จังหวัดพังงา (เฉพาะในพื้นที่อ่าวพังงา) สถานภาพแนวปะการังโดยรวมสมบูรณ์ปานกลาง มีแนวปะการังที่มีสถานภาพสมบูรณ์ดีมาก-ปานกลาง ได้แก่ เกาะโบยใหญ่ เกาะดอกไม้ เกาะไข่นอก เกาะไข่ใน เกาะยาวใหญ่ เกาะยาวน้อย เกาะโรย เกาะละวะใหญ่ และเกาะลิปี ปะการังชนิดเด่นที่พบทั้ง 3 จังหวัด ได้แก่ ปะการังโขด (Porites lutea) ปะการังช่องเหลี่ยม (Favites spp.) ปะการังวงแหวน (Favia spp.) ปะการังดาวเล็ก (Cyphastrea spp.) ปะการังกาแล็กซี่ (Galaxea fascicularis) ปะการังดอกไม้ทะเล (Goniopora spp.) ปะการังดอกกะหล่ำ (Pocillopora damicornis) และปะการังดอกไม้ทะเลทะเล (Goniopora spp.) 

          2) หญ้าทะเล ประกอบด้วย 1) จังหวัดภูเก็ต พบหญ้าทะเลรวม 12 ชนิด สามารถแบ่งหญ้าทะเลออกเป็น 2 กลุ่ม คือ แหล่งหญ้าทะเลบริเวณปากแม่น้ำ ได้แก่ อ่าวป่าคลอก อ่าวน้ำบ่อ อ่าวฉลอง และช่องปากพระ และแหล่งหญ้าทะเลบริเวณแนวปะการัง ได้แก่ หาดในยาง เกาะตะเภาใหญ่ อ่าวมะขาม เกาะนาคาใหญ่ เกาะมะพร้าว เกาะรังใหญ่ อ่าวตั้งเข็ม และเกาะโหลน-อ่าวยนต์ พบหญ้าทะเลส่วนใหญ่อยู่ในสมบูรณ์เล็กน้อย 2) จังหวัดกระบี่ พบหญ้าทะเลรวม 12 ชนิด สามารถแบ่งหญ้าทะเลออกเป็น 3 กลุ่ม คือ แหล่งหญ้าทะเลบริเวณปากแม่น้ำ ได้แก่ อ่าวท่าเลน เกาะศรีบอยา-เกาะปู และเกาะลันตา แหล่งหญ้าทะเลบริเวณพื้นทราย ได้แก่ บริเวณแหลมหางนาค-อ่าวน้ำเมา-อ่าวกระบี่ และแหล่งหญ้าทะเลบริเวณแนวปะการัง ได้แก่ เกาะด้ามหอก-ด้ามขวาน อ่าวไร่เลย์ พบหญ้าทะเลส่วนใหญ่อยู่ในสมบูรณ์ปานกลาง 3) จังหวัดพังงา (เฉพาะในพื้นที่อ่าวพังงา) พบหญ้าทะเลรวม 11 ชนิด ในพื้นที่ บ้านท่านุ่น - บ้านอ่าวย่านสะบ้า บ้านอ่าวมะขามเกาะละวะใหญ่ เกาะยาวน้อย-เกาะยาวใหญ่ และอ่าวพังงาตอนใน พบหญ้าทะเลส่วนใหญ่อยู่ในสมบูรณ์ปานกลาง

          3) สัตว์ทะเลหายาก ที่พบในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต จังหวัดกระบี่ และจังหวัดพังงา (เฉพาะในพื้นที่อ่าวพังงา) ได้แก่ โลมาปากขวด โลมาลายจุด โลมาลายแถบ โลมากระโดด โลมาหลังโหนก โลมาอิรวดี วาฬหัวทุย วาฬหัวทุยแคระ วาฬหัวแตงโมง กระเบนราหู ฉลามวาฬ กระเบนราหูยักษ์ ฉลามเสือดาว ปลาโรนัน เต่าตนุ เต่ากระ เต่าหญ้า เต่าหัวค้อนเต่ามะเฟือง และพะยูน

          4) ป่าชายเลน ป่าชายหาด และป่าพรุ ประกอบด้วย 1) จังหวัดภูเก็ต จากข้อมูลปี พ.ศ. 2563 มีพื้นที่ป่าชายเลนคงสภาพ จำนวน 15,785.40 ไร่ พบกระจัดกระจายบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกของจังหวัดครอบคลุม อำเภอถลาง อำเภอเมืองภูเก็ต พื้นที่ป่าชายหาด จำนวน 1,680.37 ไร่ ส่วนใหญ่ถูกบุกรุกแปรสภาพเป็นโรงแรม และรีสอร์ท และพื้นที่ป่าพรุ จำนวน 189.87 ไร่ โดยพรุที่ยังคงสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ในอดีต คือ พรุบริเวณหาดไม้ขาว เช่น พรุทับเคย พรุยายรัตน์ พรุจืด พรุยาว พรุจิก พรุไม้ขาว พรุเจ๊ะสัน แต่ปัจจุบันพรุเหล่านี้ถูกพัฒนาเป็นแหล่งเก็บน้ำ จึงคงเหลือเพียงพรุจิก 2) จังหวัดกระบี่ มีพื้นที่ป่าชายเลนคงสภาพ จำนวน 230,790.77 ไร่ กระจายอยู่ใน 6 อำเภอ 30 ตำบล ได้แก่ อำเภอเกาะลันตา อำเภอคลองท่อม อำเภอเมืองกระบี่ อำเภอเหนือคลอง และอำเภออ่าวลึก และพื้นที่ป่าชายหาด จำนวน 4,406.97 ไร่ 3) จังหวัดพังงา มีพื้นที่ป่าชายเลนคงสภาพ จำนวน 288,443.90 ไร่ พื้นที่ป่าชายหาด จำนวน 23,483.52 ไร่ และพื้นที่ป่าพรุ จำนวน 399.95 ไร่

การใช้ประโยชน์พื้นที่ทางทะเลอ่าวพังงา
          พื้นที่อ่าวพังงา เป็นอ่าวขนาดใหญ่ที่สุดทางฝั่งทะเลอันดามัน มีกิจกรรมการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่หลากหลาย ได้แก่ 

          1) การทำประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชุมชนที่อาศัยอยู่รอบอ่าวตามแนวชายฝั่ง ริมน้ำ ลำคลอง รวมถึงพื้นที่บนเกาะ ซึ่งมีทั้งการเพาะเลี้ยงบนบก และในกระชัง ประชากรในบางหมู่บ้านถึงแม้ไม่ได้ทำอาชีพประมงเป็นหลัก แต่ทุกหมู่บ้านจะมีประชากรส่วนหนึ่งประกอบอาชีพประมง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการทำขนาดเล็ก หรือประมงพื้นบ้าน จำพวกอวนลอยปลา อวนลอยปู อวนลอยกุ้ง ลอบปลา ลอบปู ลอบหมึก และระวะกุ้งเคย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการทำประมงพาณิชย์ในพื้นที่อ่าวพังงา ได้แก่ เรืออวนดำ หรืออวนล้อมจับ อวนลอย ปลาอินทรี อวนลากแผ่นตะเฆ่ อวนรุน อวนไดหมึก เป็นต้น 

          2) กิจกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดกระบี่ โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ คือ การพักผ่อนเล่นน้ำชายหาด การดำน้ำผิวน้ำ การดำน้ำลึก การนั่งเรือชมธรรมชาติ กระดานโต้คลื่นและกิจกรรมอื่น ๆ ทางทะเล โดยมีพื้นที่ที่สำคัญได้แก่ เกาะราชาใหญ่ เกาะราชาน้อย เกาะเฮ เกาะไม้ท่อน เกาะนาคาน้อย เกาะนาคาใหญ่ เกาะพีพีดอน เกาะพีพีเล เกาะไม้ไผ่ เกาะลันตา เกาะไหง และเกาะรอก ส่วนในพื้นที่อ่าวพังงา มีพื้นที่ที่สำคัญได้แก่ เกาะยาวใหญ่ เกาะยาวน้อย เกาะไข่ เกาะละวะใหญ่ เขาพิงกัน เขาตาปู ถ้ำลอดใหญ่ เขาเขียน เขาหมาจู เกาะปันหยี เกาะทะลุ เกาะห้อง และเกาะพนัก 

          3) การเดินเรือ โดยมีท่าเรือหลากหลายประเภทโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ได้แก่ ท่าเทียบเรือเพื่อรับขนถ่ายสินค้าสาธารณะทั่วไป ท่าเทียบเรือโดยสารและเรือสำราญ/กีฬา ท่าเทียบเรือของส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจ ท่าเทียบเรือประมง ท่าเทียบเรือใช้ในกิจการของโรงแรม และร้านอาหาร มีจำนวนรวมประมาณ 32 ท่าเรือ ส่วนท่าเรือในจังหวัดกระบี่ ส่วนใหญ่เป็นท่าเทียบเรือโดยสารเพื่อการท่องเที่ยว ท่าเทียบเรือพาณิชย์ และท่าเทียบเรือประมง มีจำนวนรวมประมาณ 20 ท่าเรือ สำหรับอ่าวพังงาส่วนใหญ่เป็นการเดินทางในระยะสั้น ระหว่างเกาะต่าง ๆ เช่น อำเภอเกาะยาว กับตัวจังหวัดพังงา หรือการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยว เช่น การเดินทางไปยังหมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน เกาะปันหยีหรือแหล่งท่องเที่ยวอื่น โดยมีท่าเรือที่สำหรับการขนส่งพาณิชย์ ท่าเทียบเรือขนส่งสินค้า และท่าเทียบเรือเพื่อการท่องเที่ยว มีจำนวนรวมประมาณ 14 ท่าเรือ

          ปัจจุบันทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของอ่าวพังงาเป็นฐานทุนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ที่จะใช้พัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ เพื่อสร้างโอกาสแข่งขันในอนาคต โดยเฉพาะในมิติของการท่องเที่ยวทางทะเลและการประมงพื้นบ้าน อย่างไรก็ตาม ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในอ่าวพังงาก็มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ทั้งอิทธิพลของปัจจัยที่มาจากการใช้ประโยชน์ของมนุษย์และจากธรรมชาติ การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเกินขีดจำกัด ตลอดจนผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นเพื่อให้สามารถรับมือปัญหาดังกล่าวจึงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับนโยบาย ระดับปฏิบัติงานและผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรโดยตรง ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหาแนวทางบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้ทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน 

          กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมีภารกิจในการอนุรักษ์ คุ้มครอง และบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเลบนฐานของระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งนับเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลจึงได้กำหนดจัดทำโครงการการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเลในพื้นที่อ่าวพังงา จังหวัดกระบี่ จังหวัดพังงา และจังหวัดภูเก็ต บนฐานของระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อรวบรวมข้อมูลประเด็นปัญหา อุปสรรค ข้อขัดแย้งระหว่างการใช้ประโยชน์เชิงพื้นที่ทางทะเลที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทั้งหมดทั้งในภาวะปัจจุบันเพื่อช่วยให้การวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเล และให้สามารถนำแผนไปปฏิบัติได้จริงและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยในปี พ.ศ. 2564 มีงานศึกษารวบรวมการใช้ประโยชน์ประมวลและวิเคราะห์สถานการณ์พื้นที่อ่าวพังงา จังหวัดกระบี่ จังหวัดพังงา และจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการศึกษา เพื่อ 
          1) รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเลในพื้นที่อ่าวพังงา จังหวัดกระบี่ จังหวัดพังงา และจังหวัดภูเก็ต
          2) วิเคราะห์กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประเด็นปัญหา ข้อจำกัด ความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์เชิงพื้นที่ทางทะเล ในพื้นที่อ่าวพังงา จังหวัดกระบี่ จังหวัดพังงา และจังหวัดภูเก็ต
          3) เพื่อประเมินการใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเชิงพื้นที่ ในสภาวะปัจจุบันในพื้นที่อ่าวพังงา จังหวัดกระบี่ จังหวัดพังงา และจังหวัดภูเก็ต
นอกจากนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้รับงบประมาณต่อเนื่องจากการเก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐาน คือ การรวบรวมข้อมูลเชิงตัวเลขเพื่อจัดทำบัญชีมหาสมุทร (Ocean Account) เพื่อรวบรวมข้อมูลสำหรับการประเมินมูลค่าของทรัพยากรธรรมชาติ นิเวศบริการที่ได้จากระบบนิเวศ และผลประโยชน์ที่สังคมและชุมชนได้จากระบบนิเวศอ่าวพังงา โดยมีตัวชี้วัดด้วยดัชนีคุณภาพมหาสมุทร (Ocean Health Index: OHI) ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2564 – 2565

ขอบเขตพื้นที่ศึกษาของอ่าวพังงา

 

การวิเคราะห์ความสอดคล้อง และความขัดแย้งของรูปแบบการใช้ประโยชน์ในพื้นที่อ่าวพังงา
          หลักการวิเคราะห์ความสอดคล้องและความขัดแย้งของการใช้ประโยชน์รูปแบบต่าง ๆ และทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แบ่งออกเป็นข้อมูลด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการใช้ประโยชน์รูปแบบต่าง ๆ ดังนี้

1) การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในอ่าวพังงา
          เนื่องจากประชาชนรอบอ่าวพังงาต้องพึ่งพาหน้าที่ของทะเลและชายฝั่งเพื่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของตน เช่น ปลาที่เป็นอาหาร น้ำทะเลที่สะอาด แนวปะการังที่สวยงาม เป็นต้น หลักการจัดการบนพื้นฐานของระบบนิเวศจึงตระหนักว่าสวัสดิภาพชีวิตของคนเรา และความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน กล่าวอีกทางหนึ่งก็คือ ทะเลและชายฝั่งได้มอบบริการทางธรรมชาติที่ทรงคุณค่า หรือ “นิเวศบริการ” (ecosystem services) ให้แก่ชุมชนในอ่าวพังงา ดังนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองคุณภาพชีวิตของประชาชนในระยะยาว จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการให้แน่ใจว่าหน้าที่และความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศทะเลและชายฝั่งในอ่าวพังงาได้รับการจัดการอย่างยั่งยืน ซึ่งหมายถึงการจัดการในแนวทางที่ให้การยอมรับในความซับซ้อนของระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งในอ่าวพังงา ความสัมพันธ์ระหว่างกัน ความเชื่อมโยงที่มีต่อผืนแผ่นดินและน้ำจืด และวิธีที่ประชาชนมีปฏิสัมพันธ์ต่อสิ่งเหล่านั้น

2) การใช้ประโยชน์จากมุมมองด้านนิเวศบริการในอ่าวพังงา
          เมื่อให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการเป็นอันดับแรก การพัฒนามุมมองด้านนิเวศบริการจึงมีความสำคัญต่อนักวางแผนและผู้บริหารจัดการพื้นที่ การกำหนดความสำคัญอันดับต้น ๆ นั้นสามารถทำได้โดยมุ่งเน้นที่พื้นที่ และแหล่งที่อยู่อาศัยที่ผลิตนิเวศบริการจำนวนมหาศาล หรือนิเวศบริการที่มีมูลค่าสูงที่สุด อีกทางหนึ่งคือ ให้ความสำคัญอันดับแรกกับการคุกคามร้ายแรงใดใดที่อาจมีต่อการผลิตของนิเวศบริการ หรือต่อพื้นที่ที่มีมูลค่าสูงมาก วิธีการและเครื่องมือสำหรับกำหนดความสำคัญจะแตกต่างกันออกไปตามสถานที่ ข้อมูลที่ได้รับและทรัพยากรที่มีอยู่ และทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับวิธีการตัดสินใจภายในสังคมนั้น ๆ แต่อย่างไรก็ตาม การประเมินพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งเพื่อหาคุณค่าที่สัมพันธ์กันนั้นสามารถทำได้โดยใช้ความรู้ดั้งเดิม และความรู้เกี่ยวกับผู้ใช้ประโยชน์เสริมกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าในระดับใดก็ตาม

3) การวิเคราะห์ความเข้ากันได้ และความขัดแย้งของการใช้พื้นที่ทางทะเลและชายฝั่ง
          การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทางทะเลในอ่าวพังงาจากหลายหลายมิติอาจมีทั้งการอยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีข้อขัดแย้ง หรืออาจจะมีความขัดแย้งกับการใช้ประโยชน์ด้วยในด้านต่าง ๆ ตลอดจนผลกระทบที่จะเกิดต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง จึงจำเป็นต้องวิเคราะห์ความเข้ากันได้ (compatibility) และความขัดแย้งของการใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ ผลการวิเคราะห์ความเข้ากันได้ และความขัดแย้ง (Uses compatibility and conflict matrix) ในอ่าวพังงา

ผลการวิเคราะห์ความเข้ากันได้ และความขัดแย้งของการใช้ประโยชน์รูปแบบต่าง ๆ ในอ่าวพังงา

ปรับปรุงข้อมูล ณ วันที่ 3 สิงหาคม 2566
องค์ความรู้ที่น่าสนใจ
  • เต่ามะเฟือง
    เต่ามะเฟือง
  • พะยูน
    พะยูน
  • ขยะทะเล
    ขยะทะเล
  • ปลาฉลามวาฬ
    ปลาฉลามวาฬ
  • ทุ่นในทะเล
    ทุ่นในทะเล
  • วาฬ/โลมา
    วาฬ/โลมา
  • หญ้าทะเล
    หญ้าทะเล
  • ปลานกแก้ว
    ปลานกแก้ว
  • เกาะในประเทศไทย
    เกาะ หมายถึง บริเวณที่ดิน หิน หรือทรายที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ล้อมรอบด้วยน้ำและอยู่เหนือน้ำตลอดเวลา ทั้งนี้เกาะอาจอยู่ในทะเล แม่น้ำ หรือที่ลุ่มขัง เช่น บึง หรือทะเลสาบก็ได้