ขนาด
ชีวมณฑล-ระนอง
โครงการมนุษย์และชีวมณฑล

พื้นที่สงวนชีวมณฑลอยู่ภายใต้โครงการมนุษย์และชีวมณฑล (Man and Biosphere Programme- MAB) 
          ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งภายใต้สาขาวิทยาศาสตร์ขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ องค์การยูเนสโก(UNESCO) เป็นโครงการระยะยาว เพื่อการอนุรักษ์ ป้องกัน ศึกษาวิจัย ฝึกอบรม และแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศ และภายใต้โครงการดังกล่าวได้มีการจัดตั้งพื้นที่สงวนชีวมณฑลขึ้น เพื่อเป็นพื้นที่ทดลองและสาธิตให้เห็นความสัมพันธ์ที่สมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และเป็นตัวอย่างในการค้นหาหนทางสำหรับอนาคตในการดำรงชีวิตร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน จนถึง กุมภาพันธ์ 2559 องค์การยูเนสโก ได้รับรองพื้นที่สงวนชีวมณฑลทั้งสิ้น 651 แห่ง ในประเทศต่างๆ รวม 120 ประเทศ

พื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง (Ranong Biosphere Reserve)
          พื้นที่ป่าชายเลนจังหวัดระนอง นับได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งหนึ่งของโลก องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้ประกาศให้พื้นที่ป่าชายเลนบริเวณศูนย์วิจัยป่าชายเลน ระนอง เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล  (biosphere  reserve)  เมื่อปี พ.ศ. 2540  นับว่าเป็นพื้นที่ป่าชายเลนแห่งแรกของโลกที่ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล  ซึ่งคำว่าพื้นที่สงวนชีวมณฑลนั้น หมายถึง พื้นที่ระบบนิเวศบนบก  ทะเล  หรือชายฝั่งทะเล  ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติภายใต้โครงการมนุษย์และชีวมณฑล  (man  and  biosphere)  ขององค์การยูเนสโก  ซึ่งการประกาศให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล  นั้น  มีวัตถุประสงค์หลัก  3  ประการด้วยกัน  คือ
          1. เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายของพันธุ์พืช  พันธุ์สัตว์  และระบบนิเวศ
          2. เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน
          3. เพื่อการศึกษาวิจัยและฝึกอบรมต่างๆ เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

          เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวจึงได้มีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น  3 เขต  (ภาพที่ 1) ซึ่งแต่ละเขตมีการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกัน กล่าวคือ 1. เขตแกนกลาง  (core zone)  จะต้องมีพื้นที่ขนาดใหญ่เพียงพอที่จะตอบสนองด้านการอนุรักษ์  และไม่มีกิจกรรมใด ๆ ยกเว้นด้านการศึกษาวิจัยและติดตามตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ  2.เขตกันชน  (buffer zone) จะต้องกำหนดแนวเขตให้ชัดเจนและล้อมรอบเขตแกนกลาง  เป็นพื้นที่ที่อนุญาตให้มีเพียงกิจกรรมที่ไม่ขัดแย้งกับการอนุรักษ์ในเขตแกนกลางและช่วยคุ้มครองเขตแกนกลางด้วย  และ 3.เป็นเขตรอบนอก  (transition zone)  เป็นพื้นที่ที่ใช้ดำเนินกิจกรรมทั่วไป  เช่น  การเกษตร  การตั้งถิ่นฐานของชุมชน และอื่น ๆ  ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่อนุรักษ์ในเขตแกนกลาง