ระบบนิเวศหาดทราย
- 23 สิงหาคม 2556
- 18,189
ระบบนิเวศหาดทราย
หาดทราย
หมายถึง พื้นที่ระหว่างขอบฝั่งกับแนวน้ำลงเต็มที่ พื้นที่นี้โดยทั่วไปเรียกฝั่งทะเลหรือชายทะเลมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบเรียบ ไม่มีแหล่งหลบซ่อนกำบังตัว จึงจจัดว่าเป็นบริเวณที่ได้รับอิทธิพลของคลื่นและลมที่รุนแรงมากบริเวณหนึ่ง ขนาดของเม็ดทรายและความลาดชันของชายหาดมีความแตกต่างกันตามสถานที่ขึ้นอยู่กับลักษณะทางภูมิศาสตร์และฤดูกาล ซึ่งส่งผลต่อความรุนแรงของคลื่นและลมที่ปะทะเข้าสู่ชายหาด หาดทรายเกิดจากการผุพังสึกกร่อนตามธรรมชาติของหิน โดยเฉพาะหินทรายและหินแกรนิตจนกลายเป็นทรายและดินถูกพัดพาลงสู่ท้องทะเล ตะกอนดิน และทรายจะถูกแยกจากกันโดยเกลียวคลื่น ส่วนที่เป็นดินจะตกตะกอนทับถมเป็นโคลนตมอยู่บริเวณใกล้ปากแม่น้ำและงอกเป็นผืนแผ่นดินต่อไป ส่วนที่เป็นทรายซึ่งหนักและทนทานต่อการ ผุกร่อนกว่าก็จะจมลงและสะสมเป็นพื้นทรายใต้ท้องทะเลโดยมีบางส่วนถูกคลื่นพัดพาเข้าสู่ฝั่งสะสมมากขึ้นจนเกิดเป็นแนวหาดทรายตามชายฝั่งทั่วไป
หาดทราย
ในแต่ละพื้นที่จะมีลักษณะที่แตกต่างกัน ปัจจัยหลักที่เป็นตัวกำหนดรูปแบบ คือ น้ำขึ้นน้ำลง แนวของน้ำขึ้นน้ำลงจะเป็นตัวแบ่งความแตกต่างของลักษณะพื้นที่ ซึ่งพื้นที่ในแนวหาดทรายโดยทั่วไปสามารถ แบ่งออกเป็นเขต ได้ 3 เขต คือ เขตเหนือระดับน้ำขึ้นสูงสุด เขตระหว่างน้ำขึ้นน้ำลง และเขตต่ำกว่าระดับน้ำลงต่ำสุด สิ่งมีชีวิตที่อาศัยในแต่ละบริเวณก็จะมีความแตกต่างกัน เช่น สัตว์ที่ต้องอาศัยในบริเวณเขตระหว่างน้ำขึ้นน้ำลง ต้องปรับตัวให้สามารถทนทานความร้อนจากแสงอาทิตย์ได้ในช่วงเวลาที่น้ำลง พวกที่อยู่เหนือเขตน้ำขึ้นสูงสุดก็ต้องสามารถเคลื่อนที่ได้เร็วเพื่อหลบแสงอาทิตย์ หรือขุดรูเพื่อหนีจากผู้ล่า โดยมีรายละเอียดในแต่ละเขต ดังนี้
1 เขตที่อยู่เหนือระดับน้ำขึ้นสูงสุด เป็นพื้นที่ที่อยู่เหนือจากระดับน้ำเมื่อน้ำขึ้นสูงสุด อยู่ทางด้านในต่อเนื่องกับแผ่นดินบริเวณนี้จะได้รับผลกระทบจากไอเค็มของทะเล แต่จะไม่มีช่วงที่จมใต้น้ำ
2. เขตน้ำขึ้นและน้ำลง เป็นบริเวณที่อยู่ระหว่างช่วงน้ำขึ้นสูงสุดและน้ำลงต่ำสุด เมื่อน้ำลงบริเวณนี้จะเปิดสู่อากาศเมื่อน้ำขึ้นจะจมอยู่ใต้น้ำ บริเวณนี้จึงเป็นบริเวณที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สิ่งมีชีวิตที่อาศัยบริเวณนี้ต้องมีการปรับตัวอย่างมาก เช่น การฝังตัวใต้พื้นทรายหรือการสร้างท่อ การมีเปลือกแข็งเพื่อป้องกันการเสียดสี จากทรายที่เกิดจากการที่คลื่นซัดเข้าออกจากฝั่ง และในช่วงที่น้ำลดร่างกายจะแห้ง จึงต้องมีเหงือกที่มีความชุ่มชื้นตลอดเวลา
3. เขตที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำลงต่ำสุด เป็นพื้นที่อยุ่นอกสุดของแนวหาดทราย และในช่วงที่น้ำลงต่ำสุดส่วนนี้จะจมอยู่ใต้ระดับน้ำ หรืออาจจะโผล่พ้นน้ำได้บ้างบางส่วน ตะกอนส่วนมากเป็นทรายละเอียดปนดินเหนียว หรือ ดินเหนียวปนทรายแป้ง เนื่องจากได้รับอิทธิพลของคลื่นจากทะเลด้านนอกในการสะสมตัว
พืชและสัตว์ที่อาศัยในบริเวณหาดทราย
มีการปรับตัวได้หลายด้าน เช่น การปรับตัวด้านรูปร่างสัณฐาน พฤติกรรม สรีรวิทยา และการผสมพันธุ์ ซึ่งการปรับตัวจะทำให้สัตว์มีชีวิตรอดได้ในช่วงที่น้ำลดลง พืชและสัตว์ที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งจึงต้องมีสภาพร่างกายที่ทนต่อสภาวะแวดล้อมที่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการต้องเจอแสงแดดเป็นเวลานานๆ หรืออุณหภูมิและความเค็มที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นพืชและสัตว์จึงต้องมีการปรับสรีระของร่างกายให้ต่อสู้กับเงื่อนไขของสิ่งแวดล้อมได้ เช่น สัตว์ที่อยู่ในเขตน้ำขึ้นน้ำลงจะปรับตัวทางด้านพฤติกรรม โดยการอาศัยในรูเพื่อหลบจากแสงแดดในตอนกลางวัน และออกหากินในเวลากลางคืน การปรับตัวทางด้านร่างกาย เช่น การมีขนปกคลุมตัวเพื่อดูดซับน้ำเอาไว้ทำให้ร่างกายชุ่มชื้นตลอดเวลา ไม่ทำให้ร่างกายแห้ง หรือการมีเปลือกหุ้มภายนอกที่ค่อนข้างหน้า เพื่อต่อต้านการบดของเม็ดกรวดทราย การปรับตัวทางด้านวงจรชีวิตคือ เมื่อถึงฤดูวางไข่มันจะกลับลงสู่ทะเล โดยจะเป็นไปตามการขึ้นลงของน้ำ นอกจากนี้สัตว์ที่อาศัยอยู่ตามหาดทรายจะมีความสามารถพิเศษในการฝังตัว เช่น ปูหนุมานมีขาที่แบนเป็นใบพาย ช่วยในการว่ายน้ำและพุ้ยทรายฝังตัวเอง ไส้เดือนทะเลมีการสร้างหินปูน หรือพวกที่มีลำตัวอ่อนนุ่มจะมีอวัยวะที่ช่วยในการขุดรู หอยเสียจะมีเท้าขนาดใหญ่ช่วยในการฝังตัว หอยตลับจะมีเปลือกหนาแข็งแรง และจะยื่นท่อน้ำเข้าน้ำออกเหนือพื้นทรายในช่วงเวลาน้ำขึ้นเป็นต้น
พืชพรรณ
ประเภทของสังคมพืชตามแนวชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลางมีหลายประเภท และมีความแตกต่างกันตามถิ่นอาศัย เช่น หาดทราย หาดหิน และภูเขาหินปูนตามแนวชายฝั่ง ซึ่งความแตกต่างของสังคมพืชแต่ละประเภทนั้นมีพัฒนาการมาจากความแตกต่างของถิ่นอาศัยที่ถูกกำหนดโดยปัจจัยทางด้านกายภาพของแต่ถิ่นอาศัย และข้อจำกัดของรูปแบบการกระจายพันธุ์ตามสถานภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติของพืชในแต่ละสังคมพืช สามารถแบ่งออกได้ดังนี้
1. สังคมพืชหาดหินและภูเขาหินปูนตามแนวชายฝั่ง หาดหินและภูเขาหินปูนตามแนวชายฝั่งสามารถพบได้ตลอดแนวชายฝั่ง โดยสังคมพืชในถิ่นอาศัยแบบนี้ประกอบด้วยพืชที่ทนแล้งได้ดี หญ้าและกกอีกหลายชนิด
2. สังคมพืชบนสันทรายและชายหาด เป็นสังคมพืชที่พบเป็นส่วนใหญ่ตลอดแนวชายฝั่ง ในบางพื้นที่สังคมพืชบนสันทรายและชายหาดที่มีลักษณะภูมิประเทศที่พิเศษ ซึ่งจะมีพรรณไม้ที่โดดเด่นและหายาก ส่วนใหญ่ถูกทำลายและถูกแทนที่ด้วยพืชต่างถิ่นที่ถูกนำมาปลูก เช่น สนทะเล (Casuarina equisetifolia J.R. & G. Forst.) กระถินณรงค์ (Acacia auriculiformis A. Cunn. Ex Benth.) กระถินเทพา (A. mangium wild.) และพืชสวน ทำให้สังคมพืชเมืองไม่สามารถแข่งขันกับพืชต่างถิ่นเหล่านั้นได้จึงสูญหายไปจากพื้นที่ในที่สุด สำหรับสังคมพืชบนสันทรายและชายหาด ในจังหวัดชุมพรและสุราษร์ธานี ซึ่งแบ่งตาม Suzuki et al. (2005) ออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
2.1 สังคมทุ่งหญ้าบนสันทราย เป็นสังคมพืชกลุ่มแรกที่พบบนสันทรายที่อยู่ถัดจากเขตน้ำขึ้นน้ำลงตลอดแนวชายฝั่ง ประกอบไปด้วยพืชล้มลุกทนน้ำเค็มซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากไอเกลือทะเล ได้แก่ หญ้า และกกหลายชนิด เช่น หญ้าลอยลม (Spinifex littoreus Merr.) หญ้าไหวทาม (Ischaemum muticum L.) กกทะเล (Fimbristylis servicer R.Br.)
2.2 สังคมไม้พุ่มเตี้ยบนสันทราย ประกอบไปด้วยไม้พุ่มหลายชนิด เช่น เตยทะเล (Pandanus odoratissimus L.f.) รักทะเล (Scaevola taccada (Gaertn.) Roxb.) โกงกางหูช้าง (Guettarda speciosa L.) สำมะงา (Clerodendrum inerme (L.) Gaertn.) ช้าเลือด (Premna obtusifolia R.Br.) โดยจะพบอยู่ระหว่างสังคมทุ่งหญ้าบนสันทรายและสังคมไม้ต้นบนสันทราย ดังนั้นสังคมพืชนี้จึงเปรียบเสมือนแนวกันชนระหว่างสังคมพืชทั้งสอง
2.3 สังคมของไม้ต้นบนสันทรายเป็นสังคมไม้พุ่มเตี้ยบนสันทรายประกอบด้วยพรรณไม้ต้นหลายชนิดที่พบได้ทั่วไปตามแนวชายฝั่ง เช่น เมา (Syzygium grande (Wight) walp.) เสม็ดชุน (S. gratum (wigth) S.N. Mitra) ฯลฯ โดยพรรณไม้เด่นที่พบส่วนใหญ่จัดอยู่ในพืชวงศ์ยาง ได้แก่ ยางนา (Dipterocarpus alatus Roxb. Ex G.Don) ยางวาด (D. chartaceous Symington) พันจำ (Vaticaharmandiana Pierre) และเคี่ยม (Cotylelobium Ianceolatum Craib) เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการสำรวจพบไบรโอไฟต์ในสังคมพืชบกตามสันทรายชายฝังด้วย โดยพบตัวอย่างไบรโอไฟต์ทั้งหมด 37 ชนิด จัดเป็นลิเวอร์เวิร์ต 26 ชนิดและมอส 11 ขนิด โดยลิเวอร์เวิร์ตวงศ์ที่พบมากที่สุดคือวงศ์ Lejeuneaceaen 19 ชนิด ส่วนมอส วงศ์ที่พบมากที่สุดคือ วงศ์ Calymperaceae 5 ชนิด ในการสำรวจครั้งนี้ยังพบลิเวอร์เวิร์ต 2 ชนิด ที่ไม่เคยมีรายงานมาก่อนในประเทศไทย คือ Cheiloleeunea ventricosa และ Leptolejeunea subacuta Steph.
สัตว์พื้นทะเล
สัตว์พื้นทะเลบริเวณหาดทราย หาดบ่อเมา ตำบลชุมโค อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร พบสัตว์พื้นทะเลทั้งหมด 74 ชนิด โดยกลุ่มที่พบมากที่สุดจัดอยู่ในไฟลัมมอลลัสกา พบทั้งหมด 27 ชนิด ประกอบด้วยหอยฝาเดียว 13 ชนิด และหอยสองฝา 14 ชนิด รองลงมาเป็นไฟลัมแอนนิลิดา และไฟลัมอาร์โทรโพดา พบทั้งหมด 17 และ 15 ชนิด ตามลำดับ สัตว์ชนิดเด่นที่พบได้แก่ ฟองน้ำเคลือบผิว (Haliclona spp.) ดอกไม้ทะเล (Epiactis spp.) หนอนตัวแบน (Pseudoceros spp.) บุ้งทะเล (Chloeia spp.) ไส้เดือนทะเล (Glycera spp.) แม่เพรียง (Eunice spp.) เพรียงทราย (Perinereis spp.) ไส้เดือนทะเลปลอกเรียบ (Branchiomma spp.) หนอนท่อ หอยหมวกเจ๊ก (Patelloida saccharina) หอยน้ำพริก (Nerita albicilla) หอยเจดีย์ (Clypeomorus bifasciata) เป็นต้น
สัตว์พื้นทะเลบริเวณหาดหินของอำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร พบทั้งหมด 9 ไฟลัม จำนวน 51 ชนิด ไฟลัม Mollusca และ Arthropoda มีจำนวนชนิดมากที่สุดคือไฟลัมละ 15 ชนิด รองลงมาคือไฟลัม Annelida (คลาส Polychaeta) ซึ่งพบทั้งหมด 11 วงศ์ ส่วนไฟลัมที่พบน้อย ได้แก่ Porifera, Platyhelminthes, Bryozoa, Branchiopoda, Echinodermata และ Chordata ที่พบอยู่ระหว่าง 1 ถึง 3 ชนิด
ความหลากหลายของสัตว์อื่นๆ
ในพื้นที่เขตปะทิว อำเภอเมือง และอำเภอละแม จังหวัดชุมพร พบสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 16 ชนิด และสัตว์น้ำเลื้อยคลาน 26 ชนิด โดยมีสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่จัดเป็นสัตว์คุ้มครอง จำนวน 6 ชนิด ได้แก่ จิ้งจกนิ้วยาวไทย (Cnemaspis siamensis) ตุ๊กแกป่าคอขวั้น (Cyrtodactylus oldham) กิ้งก่าบินมลายู (Draco obscurus) ตะกวด (Varanus bengalensis) เหี้ย (Varanus salvator) และงูทางมะพร้าวลายขีด (Elaphe radiata)
จากการสำรวจนกทั้ง 3 อำเภอ พบนก 51 ชนิดสามารถจำแนกออกได้ 5 กลุ่ม ตามการแพร่กระจายในพื้นที่ ดังนี้
1. กลุ่มนกชายเลนชายหาดรวมถึงหาดหิน ได้แก่ นกยางทะเล นกยางเปีย และนกหัวโตทรายเล็ก
2. กลุ่มนกน้ำ ได้แก่ นกที่หาอาหารตามแหล่งน้ำหรือหนองน้ำ เช่น นกกาน้ำเล็ก และรวมถึงนกที่อาศัยพื้นที่ชายน้ำ เช่น นกกระเต็นอกขาว เหยี่ยวแดง และนกออก เป็นต้น
3. กลุ่มนกที่เลือกใช้ถิ่นที่อยู่อาศัยตามหินปูนหรือถ้ำ ได้แก่ นกแอ่นกินรัง นกนางแอ่นบ้าน
4. กลุ่มนกทุ่ง หรือพวกที่ใช้พื้นโล่ง นกเหล่านี้มักจะหาอาหารตามทุ่งหญ้า ได้แก่ นกตะขาบทุ่ง นกเขาใหญ่ นกกระปูดใหญ่ และนกจาบคา เป็นต้น
5. กลุ่มนกป่า เป็นนกที่เลือกใช้พื้นที่ป่า ได้แก่ นกจับแมลงจุกดำ นกจาบดินอกลาย นกยั้งรอกใหญ่ ฯลฯ