ป่าชายหาดและป่าพรุ
- 13 ตุลาคม 2557
- 913
พันธุ์ไม้ในป่าชายหาด
ป่าชายหาดมีองค์ประกอบของพันธุ์ไม้และโครงสร้างป่าที่มีการผันแปรไปตามสิ่งแวดล้อมแต่ละท้องที่ พื้นที่ที่เป็นหาดทรายเกิดใหม่พบสังคมของสนทะเลซึ่งมีไม้สนทะเลเด่นนำเพียงชนิดเดียว พื้นที่ป่ามักโล่งเตียน เนื่องจากดินเป็นดินทราย และถูกปกคลุมด้วยใบสนหนา ทั้งนี้หากพื้นที่เป็นหาดเก่าพอควรอาจพบไม้พุ่มขึ้นอยู่ เช่น รักทะเลและครามป่า เป็นต้น พบในพื้นที่ชายฝั่งทะเลทางภาคใต้ตอนล่างที่มีชายฝั่งทะเล ที่เป็นหินโดยเฉพาะเกาะต่าง ๆ เป็นสังคมของรังกะแท้ ตะบูน โพกริ่ง หลุมพอทะเล กระหนาย โพทะเล และกระทิง เป็นต้น ต้นไม้เหล่านี้มีความสูงไม่มากและมีลำต้นคดงอด้วยแรงลมแต่มีเรือนยอดที่ต่อเนื่องกันโดยตลอดและแน่นทึบจนจรดดิน บริเวณที่ห่างขึ้นฝั่งมาเล็กน้อยและดินได้พัฒนามากขึ้น พบโครงสร้างป่ามีความสูงพอควรและอาจแบ่งได้เป็น ๓ ชั้นเรือนยอด ชั้นบนสุดมีความสูงประมาณ ๑๕ – ๒๐ เมตร ประกอบด้วยพันธุ์ไม้หลัก ได้แก่ ทองบึ้ง มะเกลือ เกด กุ๊ก มะเกลือเลือด และกระทิง เป็นต้น ไม้ชั้นรองได้แก่ ตีนนก กระเบากลัก ข่อย มะค่าลิง เป็นต้น ในชั้นไม้พุ่มค่อนข้างมีความหลากหลายมาก ไม้สำคัญในชั้นนี้ได้แก่ พลองขี้ควาย พลองขี้นก แก้ว มะนาวผี และสลัดบ้าน เป็นต้น ทั้งนี้พื้นป่ายังปกคลุมไปด้วยไม้พุ่มหนามหลายชนิด เช่น หนามเค็ด เกี๋ยงป่า หนามขี้แรด หนามคนฑา และกำจาย เป็นต้น ส่วนเถาวัลย์ที่สำคัญได้แก่ มันคันขาว กำลังควายถึก และเขี้ยวงู เป็นต้น
ในสังคมพืชป่าชายหาดนี้ ยังมีกล้วยไม้ที่มีดอกสวยงามและไม้เกาะติดอื่น ๆ หลายชนิด โดยเฉพาะกล้วยไม้ในสกุล Sarcanthus,Rananthera,Vanda,Pomatocalpa, Rhyncostylis และ Dendrobuim ส่วนไม้เกาะติดที่สำคัญ ได้แก่ Hoya spp., Dischidia spp. และ Hydrophytum spp. เป็นต้น (Smitinand, 1977) ส่วนบริเวณที่เป็นที่ลุ่มดินทรายหรือดินตะกอน ที่มีน้ำทะเลท่วมถึงเป็นครั้งคราว ดินค่อนข้างเค็มจนไม้ใหญ่ไม่สามารถขึ้นได้ เป็นสังคมของหญ้าและพืชล้มลุก ที่ทนเกลือปกคลุมหนาแน่น ที่สำคัญได้แก่ แห้วทรงกระเทียม จูดหนู กกสามเหลี่ยม และชะคราม เป็นต้น บางบริเวณอาจพบขลู่ ซึ่งเป็นไม้พุ่มขนาดเล็กขึ้นหนาแน่น