ป่าชายหาดและป่าพรุ
- 19 กรกฎาคม 2566
- 1,988
พื้นที่ป่าชายหาด (ปี 2564)
พื้นที่ป่าชายหาด
เป็นป่าที่มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ทั้งพืชและสัตว์สูง มีความอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิดและมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเป็นพื้นที่แนวป้องกันไอเค็มที่พัดพาจากทะเลเข้าสู่ผืนแผ่นดิน เป็นพื้นที่ที่มีเอกลักษณ์ซึ่งไม่สามารถพบได้ในพื้นที่อื่น ๆ รวมทั้งเป็นกำแพงป้องกัน ลม พายุในฤดูมรสุม ป่าชายหาดเป็นป่าที่ได้รับอิทธิพลจากกระแสลม กระแสคลื่น รวมถึงไอเค็มจากทะเล แสงแดดร้อนจัด สภาพความชื้น ชื้นจัด ชื้นน้อย และชื้นปานกลาง ระบบนิเวศประกอบด้วยเนินทรายหรือหาดทรายและมีไม้เถาหรือไม้เลื้อย ไม้พุ่ม และไม้ยืนต้นที่มีลำต้นคดงอ โดยความสูงของต้นไม้จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่ออยู่ห่างจากชายหาดออกไป พรรณไม้ดัชนีที่สำคัญในป่าชายหาด ได้แก่ สนทะเล (Casuarina equisetifolia) หูกวาง (Terminalia catappa) กระทิง (Calophyllum inophyllum) ปอทะเล (Hibiscus tiliaceus) โพทะเล (Thespesia asiatica) จิกทะเล (Barringtonia asiatica) เตยทะเล (Pandanus odorifer) เป็นต้น
ประเทศไทยมีป่าชายหาดที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระจายอยู่ในพื้นที่ 18 จังหวัดชายฝั่งทะเล โดยข้อมูลพื้นที่ป่าชายหาด จากการแปลภาพถ่ายดาวเทียมรายละเอียดสูงของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ปี พ.ศ. 2563 พบพื้นที่ป่าชายหาด จำนวน 47,149.30ไร่ โดยจังหวัดที่มีพื้นที่ป่าชายหาดมากที่สุด คือ จังหวัดพังงา มีพื้นที่ป่าชายหาด จำนวน 23,483.52 ไร่ รองลงมาคือ จังหวัดกระบี่ มีพื้นที่ป่าชายหาด จำนวน 4,406.97 ไร่ ป่าชายหาดในประเทศไทย ส่วนใหญ่ถูกทำลายจนเหลือเป็นผืนเล็กผืนน้อย เนื่องจากมีพันธุ์ไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจอยู่น้อยชนิด ไม่ค่อยได้รับความสนใจในการอนุรักษ์ สาเหตุมาจากการไม่เห็นค่าความสำคัญ ด้วยเห็นว่าเป็นเพียงพื้นที่รกร้างหรือเป็นวัชพืช จึงมีการนำพื้นที่ไปใช้ประโยชน์ในเชิงท่องเที่ยว เช่น ก่อสร้างรีสอร์ท ท่าเทียบเรือ หรือบุกรุกเพื่อพื้นที่ทำการเกษตร
พื้นที่ป่าชายหาด จากการแปลภาพถ่ายดาวเทียมรายละเอียดสูงของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ปี พ.ศ. 2563
ปรับปรุงข้อมูล ณ วันที่ 19 กรกฎาคม 2566