ปะการังเทียม
- 11 กุมภาพันธ์ 2558
- 775
การจัดวางปะการังเทียมในไทย
พื้นที่จัดวาง ที่ตั้ง และจำนวนปะการังเทียมในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 5 พื้นที่ ดังนี้
1. การารจัดสร้างปะการังเทียมบริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันออก : Click
2. การจัดสร้างปะการังเทียมบริเวณอ่าวไทยตอนบน : Click
3. การจัดสร้างปะการังเทียมบริเวณอ่าวไทยตอนกลาง : Click
4. การจัดสร้างปะการังเทียมบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง : Click
5. การจัดสร้างปะการังเทียมบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน : Click
การจัดวางปะการังเทียมในประเทศเกิดขึ้น เนื่องมาจากสภาวะทรัพยากรประมงเริ่มเสื่อมโทรมลง ซึ่งมีผลมาจากการพัฒนาเครื่องมือทําการประมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนําเครื่องมืออวนลากเข้ามาทําการประมงในเขตทะเลไทยเมื่อปี พ.ศ.2503 ทําให้ปริมาณการจับสัตว์น้ำโดยเฉพาะสัตว์หน้าดินถูกจับขึ้นมามากจนเกินศักยภาพการผลิตของธรรมชาติ แต่การสร้างปะการังเทียมนั้น สําหรับประเทศไทยแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะเป็นสิ่งที่ชาวประมงเคยทํามาตั้งแต่อดีตและยังดําเนินมาจนถึงปัจจุบัน โดยในยุคแรกๆ นั้นปะการังเทียมจะทํามาจากวัสดุที่หาได้ง่าย เช่น ทางมะพร้าว ไม้ไผ่ กิ่งไม้ เป็นต้นมาผูกให้ลอยอยู่ในระดับกลางน้ำ โดยมีทุนถ่วงอยู่ด้านล่าง ที่ชาวประมงเรียกกันว่า “ซั้ง” (สมพร, 2537) ในยุคต่อมาจึงมีการคิดค้นนําเอาวัสดุที่ใช้แล้ว เช่น ปลอกบ่อ ท่อ-คอนกรีตเสริมเหล็ก ยางรถยนต์เก่ามาประกอบกันเป็นปะการังเทียมรูปแบบต่างๆ (สุนันทา, 2550) การใช้วัสดุที่เป็นโครงสร้างคอนกรีตซึ่งหล่อเป็นแบบพีระมิด และแบบแท่งสี่เหลี่ยมโปร่งขนาดต่างๆ ตลอดจนวัสดุเหลือใช้อื่นๆ เช่น ตู้รถไฟ รถยนต์ และตู้คอนเทนเนอร์ เป็นต้น (สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, ไม่ปรากฏปีพิมพ์)
การจัดสร้างปะการังเทียมในประเทศไทย ริเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2521 ซึ่งเป็นการทดลองสร้างที่ จังหวัดระยอง เรียกว่า “มีนนิเวศน์” โดยเลือกใช้วัสดุเหลือใช้ที่หาได้ง่ายในบริเวณนั้นและมีราคาถูก เช่น ยางรถยนต์ หิน ไม้ และแท่งคอนกรีตรูปทรงกลม นํามาประกอบรวมเข้าด้วยกัน จํานวน 9 รูปแบบตามหลัก และวิธีการที่ได้ศึกษาจากเอกสารรายงานทางวิชาการของต่างประเทศ ปรากฏว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง สัตวน้ำเศรษฐกิจหลายชนิดทั้งปลาหน้าดิน ปลาผิวน้ำ และจําพวกสัตวน้ำอื่นๆ เข้ามาอาศัยเป็นจํานวนมาก และมีจํานวนไม่น้อยกว่าในแนวปะการังธรรมชาติ ซึ่งปริมาณสัตวน้ำแต่ละชนิดที่เข้ามาอยู่อาศัย จะขึ้นอยู่กับรูปแบบวัสดุและการจัดวาง ต่อมาการจัดสร้างปะการังเทียมจึงถูกบรรจุไว้ในโครงการพัฒนาประมงทะเลชายฝั่งและมีการทดลองสร้างเรื่อยมาในหลายพื้นที่ทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน
การวางโครงสร้างแท่งคอนกรีตเพื่อเพิ่มพื้นผิวในการลงเกาะให้แก่ ปะการังแท้ เป็นอีกแนวความคิดหนึ่งที่เกี่ยวกับการวางปะการังเทียมที่อาจจะช่วยฟื้นฟูแนวปะการัง ดังนั้นจึงเกิดโครงการฟื้นฟูแนวปะการังที่เกาะไม้ท่อนจังหวัดภูเก็ต ซึ่งนอกเหนือจากจุดประสงค์เพื่อการเป็นเพียงแหล่งอาศัยให้กับสัตว์น้ำเท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยเสริมโครงสร้างที่มีความมั่นคงเพื่อเร่งให้มีการลงเกาะของตัวอ่อนปะการังและทำให้แนวปะการังมีการฟื้นตัวที่เร็วขึ้นอีกด้วย (Thongtham and Chansang, 1999)
วัสดุและรูปแบบของแนวปะการังเทียมที่วางในประเทศไทยตั้งแต่จนถึงปัจจุบันมีอยู่มากมายหลายรูปแบบ เช่น ในจังหวัดระยองปะการังเทียมที่ใช้ในช่วงตั้งแต่ปี พ.ศ.2521-2530 มีความหลากหลายของวัสดุที่นำมาสร้าง คือ ยางรถยนต์ แท่งคอนกรีตบล๊อกสี่เหลี่ยม ปลอกบ่อ ท่อคอนกรีตเสริมเหล็ก หิน และไม้ (สันติ, 2531) ต่อมาในปี พ.ศ.2526 มีการใช้วัสดุที่เป็นโครงสร้างคอนกรีตที่หล่อเป็นแท่งสี่เหลี่ยมโปร่ง และแบบปิรามิด จัดวางปะการังเทียมบริเวณหน้าสถาบันเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดสงขลา (NICA) (Parnichsook et. al.,1985) ในจังหวัดสตูล พ.ศ.2528-2529 มีการนำท่อมาวางเป็นปะการังเทียมบริเวณหน้าหมู่บ้านชาวประมงจังหวัดสตูล (Awaiwanon and Poonyanudech, 1988) และการใช้แท่งคอนกรีตหล่อที่เรียกว่า Reef ball มาสร้างปะการังเทียม ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกที่จังหวัดภูเก็ต
การวางปะการังเทียมที่จังหวัดปัตตานี และนราธิวาส ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ.2544 จนถึงปัจจุบันนี้ มีการใช้วัสดุที่แตกต่างกัน เช่น แท่งคอนกรีตสี่เหลี่ยม ตู้รถไฟเก่า ท่อซีเมนต์ และมีการดำเนินการจัดวางในหลายพื้นที่ ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็มีรูปแบบการจัดวางที่แตกต่างกัน ทั้งในด้านจำนวน การจัดเรียงตัว ลักษณะพื้นท้องทะเล ระดับความลึก ซึ่งผลของจำนวนวัสดุ ขนาดและชนิดของวัสดุ ตลอดจนลักษณะการจัดวาง และปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อประชาคมสัตว์ทะเลที่เข้ามาอยู่อาศัยในแหล่งอาศัยเหล่านี้ ที่ผ่านมายังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนมากนัก แต่อย่างไรก็ตามผลจากการวางปะการังเทียมทั้ง 2 ฝั่งทะเล พบว่าโดยภาพรวมแล้วมีผลทําให้สัตวน้ำเศรษฐกิจหลายชนิดเพิ่มจํานวนขึ้น ซึ่งต่อมาจึงมีการจัดสร้างปะการังเทียมเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่