ปะการังเทียม
- 16 กุมภาพันธ์ 2558
- 624
ขั้นตอนและวิธีการจัดวางปะการังเทียม
ปะการังเทียม
นอกจากจะสร้างขึ้นเพื่อดึงดูดปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ ให้เข้ามาอยู่อาศัยแล้ว ยังสร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ อีก เช่น เพื่อเป็นแนวป้องกันเรืออวนลาก และเป็นแนวป้องกันคลื่น ดังนั้นในการสร้างปะการังเทียมจึงต้องคำนึงถึงจุดประสงค์ในการสร้างก่อน เพื่อกำหนดรูปแบบ ประเภทวัสดุ ผังการวางและตำแหน่งที่จัดสร้างด้วย ซึ่งกรมประมงได้กำหนดขั้นตอนการดำเนินการจัดสร้างปะการังเทียม ไว้ดังนี้
1. การเลือกพื้นที่
1.1 โดยหน่วยงานของกรมประมงที่ตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค
1.2 โดยส่วนราชการอื่นและภาคเอกชน
2. การสำรวจความเหมาะสมของพื้นที่ดำเนินการ ดำเนินการโดยการสำรวจและรวบรวมข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวข้องในบริเวณพื้นที่เป้าหมายก่อนการจัดสร้างปะการังเทียม ประกอบด้วย
2.1 การชี้แจงวิธีการจัดสร้างปะการังเทียมที่ดำเนินการโดยกรมประมง เพื่อให้ชาวประมง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต.) ผู้นำท้องถิ่น ผู้เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรประมงในทะเล และผู้สนใจในพื้นที่เป้าหมาย ประชุมร่วมกันเพื่อเลือกพื้นที่การจัดสร้างและออกแบบปะการังเทียม
2.2 การตรวจสอบความต้องการให้จัดสร้างปะการังเทียม ในระดับหมู่บ้านและอำเภอ หรือเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกันหลายหมู่บ้าน ตำบลและอำเภอ
2.3 การตรวจสอบพื้นที่จัดสร้างต้องไม่กีดขวางการสัญจรทางน้ำ เช่น อยู่ในเขตร่องน้ำเดินเรือ เขตท่าเรือ และไม่เป็นพื้นที่หวงห้ามต่าง ๆ ตลอดจนไม่เป็นพื้นที่ซึ่งไม่เหมาะต่อการสร้าง เช่น พื้นเป็นโคลนเหลว หรืออยู่ใกล้ปากแม่น้ำ เป็นต้น
2.4 การสำรวจข้อมูลพื้นฐานด้านต่างๆ ได้แก่ การสำรวจชนิดและจำนวนทรัพยากรสัตว์น้ำที่จับได้จากเครื่องมือประมงประเภทต่าง ๆ ฤดูทำการประมง สิ่งแวดล้อมและปัญหา เช่น แนวปะการังธรรมชาติ ปัญหาด้านน้ำเสียและการกัดเซาะชายฝั่ง และการสำรวจข้อมูลทางด้านสมุทรศาสตร์และสิ่งแวดล้อม เช่น พิกัดพื้นที่ ความลึก ความขุ่นใส กระแสน้ำ สภาพพื้นทะเล ความลาดชันของพื้นท้องน้ำ ตลอดจนความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำ
3. การคัดเลือกพื้นที่ดำเนินการและจัดลำดับความเหมาะสม
4. การยืนยันพื้นที่จัดสร้างปะการังเทียม โดย
4.1 การจัดทำร่างพิกัดพื้นที่จัดสร้างและผังการจัดวางวัสดุ พร้อมทุ่นลอยแสดงตำแหน่งที่หมาย ระยะห่างจากฝั่ง ขนาดและจำนวนวัสดุและทุ่นลอย
4.2 การจัดประชุมชี้แจงชาวประมงในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อยืนยันพื้นที่ดำเนินการ และพิกัดพื้นที่จัดสร้างปะการังเทียม
4.3 การปรับเปลี่ยนพิกัดที่จัดสร้างและผังการจัดวางวัสดุตามความต้องการของชาวประมงในพื้นที่เป้าหมาย หรือชี้แจงข้อจำกัดในวิธีการจัดสร้างหากไม่สามารถดำเนินการได้ ทั้งนี้ต้องได้รับการเห็นพ้องต้องกันเป็นส่วนมากโดยชาวประมงกลุ่มเป้าหมาย
5. ขอความเห็นชอบจากกองทัพเรือในการจัดสร้างตามพิกัดพื้นที่ต่าง ๆ
6. จัดทำแบบแปลน ราคากลางค่าก่อสร้าง (ปรับเพิ่มลดจำนวนวัสดุตามราคากลางที่คำนวณได้)
7. ดำเนินการประกวดราคาและทำสัญญาจ้าง
8. ขออนุญาตสร้างสิ่งล่วงล้ำน้ำจากสำนักงานการขนส่งทางน้ำ (เจ้าท่าภูมิภาคเดิม)
9. ควบคุมงานการจัดสร้างวัสดุและทุ่นลอย
10. เมื่อได้รับความเห็นชอบจากกองทัพเรือและกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี (กรมเจ้าท่าเดิม) แล้วจึงดำเนินการจัดวางวัสดุ และทุ่นลอยแสดงตำแหน่งเป้าหมาย ตามพิกัดที่กำหนดในแบบแปลน พร้อมป้ายประกาศเพื่อให้ชาวประมงและผู้สัญจรไปมาในทะเลทราย โดยมีเจ้าหน้าที่ควบคุมการจัดสร้างในทะเล
11. ประชาสัมพันธ์การจัดวางวัสดุที่กำลังดำเนินการ ให้ชาวประมงในพื้นที่เป้าหมายและเรือประมงพาณิชย์ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงได้ทราบและหลีกเลี่ยงการทำประมงในระหว่างที่กำลังจัดวาง เพื่อป้องกันอันตรายและความเสียหายของเครื่องมือประมงที่อาจเกิดขึ้นในขณะที่ยังจัดสร้างไม่แล้วเสร็จหรือเมื่อสร้างเสร็จแล้ว
12. รายงานพิกัดพื้นที่จัดสร้างปะการังเทียมต่อกองทัพเรือ เพื่อจัดทำประกาศชาวเรือต่อไป
13. การติดตามและประเมินผลการจัดสร้างปะการังเทียม ภายหลังจากมีการจัดสร้างปะการังเทียม จำเป็นต้องมีการติดตามและประเมินผลการจัดสร้างปะการังเทียม โดยการสำรวจข้อมูลต่าง ๆ ประกอบด้วย
13.1 การสำรวจความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในหมู่บ้านประมงที่ใช้ประโยชน์จากปะการังเทียม
13.2 การสำรวจความเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรประมง และเครื่องมือประมง และเครื่องมือประมง เช่น การเปลี่ยนแปลงชนิดและจำนวนสัตว์น้ำ ชนิดและจำนวนเครื่องมือประมง ตลอดจนอัตราการลงแรงประมงและผลการจับสัตว์น้ำ เป็นต้น
13.3 การสำรวจความเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อม เช่น สังคมพืชและสัตว์ที่เจริญเติบโตบนผิววัสดุจัดสร้างปะการังเทียม สังคมของสัตว์น้ำบริเวณปะการังเทียม และการจมตัวของวัสดุ เป็นต้น ซึ่งการสำรวจสามารถกระทำได้โดยการดำน้ำ บันทึกภาพและวีดีโอใต้น้ำ