ขนาด
ปะการังเทียม
  • 16 กุมภาพันธ์ 2558
  • 1,053
ปะการังเทียม สารสนเทศ ทช. ศูนย์ข้อมูลกลาง ทช.

รูปแบบและรูปทรงของปะการังเทียม

รูปแบบการจัดวาง
          รูปแบบการจัดสร้างปะการังเทียมมีการใช้วัสดุและรูปแบบที่แตกต่างกัน แผนผังการจัดวางปะการังเทียมในทะเลจึงมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้ประโยชน์ สรุปได้ดังนี้
1. รูปแบบเพื่อเป็นแหล่งทำการประมง
          โดยจะจัดวางวัสดุเป็นกองใหญ่ ใช้วัสดุจำนวนมากวางซ้อนเป็นกองสูงในแหล่งน้ำค่อนข้างลึก  การจัดวางในลักษณะนี้จะดึงดูดสัตว์น้ำขนาดใหญ่ได้ดี ครอบคลุมพื้นที่น้อย มีประโยชน์มากต่อการตกปลา การท่องเที่ยวและการดำน้ำ ตัวอย่างเช่น การทดลองใช้ปะการังเทียมแบบลูกบาศก์ (block) ในประเทศฮ่องกง เพื่อศึกษาการลงเกาะของตัวอ่อนปะการัง (Lam, 2003) การจัดสร้างปะการังเทียมโดยใช้วัสดุแท่งคอนกรีตขนาด 1x1x1 ม.3 ขนาด 4x8x1 ม.3 ที่จังหวัดนราธิวาส ในปี พ.ศ. 2532 เป็นต้น ซึ่งจากการศึกษาของ Abeson และ Shlesinger (2002) ในประเทศอิสราเอล พบว่า ขนาดของก้อนวัสดุที่ใช้ทำปะการังเทียม หากมีขนาดใหญ่ขึ้นจะยิ่งดึงดูดปลาได้ดีกว่าปะการังเทียมใช้วัสดุขนาดเล็ก

การวางปะการังเทียมเป็นกองเพื่อเป็นแหล่งทำการประมง (Lam, 2003)

9

การวางปะการังเทียมเป็นกองเพื่อเป็นแหล่งทำการประมง (Buffia et.,al 1995)

2. รูปแบบเพื่อเป็นแหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรประมง
          โดยจะจัดวางวัสดุครอบคลุมพื้นที่กว้าง สร้างเป็นกรอบหรือแนวล้อมรอบพื้นที่อนุรักษ์ หรือพื้นที่อนุบาลลูกสัตว์น้ำวัยอ่อนในเขตอนุรักษ์ 3,000 เมตรจากฝั่ง ตัวอย่างเช่น การจัดสร้างปะการังเทียมในจังหวัดระยอง จันทบุรี เพชรบุรี ตราด และจังหวัดนราธิวาส เป็นต้น (สกุล และอุทัย, 2535)

การวางปะการังเพื่อเป็นแหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรประมง (สกุล และอุทัย, 2535)

3. รูปแบบเพื่อป้องกันชายฝั่ง
          ป้องกันเครื่องมือประมงประเภทอวนทุกชนิด โดยจะจัดวางปะการังเทียมเป็นแถวยาวหลายๆ แถวซ้อนกัน ความกว้างของแถวตั้งแต่ 30 ฟุตขึ้นไป ใช้วัสดุที่มีความสูงประมาณ 3.7-4.5 ฟุต จัดวางในบริเวณชายฝั่งที่มีระดับน้ำลงต่ำสุด ซึ่งมีความสูงของน้ำประมาณ 4-5.5 ฟุต ตัวอย่างเช่น การจัดวางปะการังเทียมรูปแบบ Reef Ball บริเวณชายฝั่งแคริเบียนตอนใต้ และบริเวณชายฝั่งหน้าแกรนด์ เคย์แมน มาร์ริออต บีช รีสอร์ท หมู่เกาะเคยแมน ระหว่างประเทศจาไมก้าและคิวบา (Harris, No Date)สำหรับในประเทศไทย เช่น การจัดสร้างปะการังเทียมในจังหวัดระยอง สงขลา และจังหวัดสตูล เป็นต้น (สกุล และอุทัย, 2535)

การวางปะการังเทียมเป็นกองเพื่อป้องกันชายฝั่งและป้องกันอวนลาก(สกุล และอุทัย, 2535)

12

การวางปะการังเทียมเพื่อป้องกันชายฝั่ง (Harris, No Date)

รูปทรงของปะการังเทียม
          เป็นที่ทราบกันดีว่าปะการังเทียมช่วยทำให้มีสัตว์น้ำเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีวัสดุหลากหลายรูปแบบที่นำมาจัดสร้างเป็นปะการังเทียม โดยวัสดุที่นิยมใช้จัดสร้างเป็นปะการังเทียมในปัจจุบัน คือ วัสดุที่ทำจากคอนกรีต เนื่องจากมีความทนทาน อายุการใช้งานนาน มีน้ำหนักมาก มีการเคลื่อนตัวจากตำแหน่งน้อย ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลน้อย และเป็นที่ยึดเกาะของสิ่งมีชีวิตพวกเกาะติดได้เป็นอย่างดี และกลายเป็นแหล่งอาหารของปลาขนาดใหญ่ในลักษณะของสายใยอาหาร (Food chain) ซึ่งในปัจจุบันคอนกรีตที่นำมาจัดสร้างเป็นปะการังเทียมมีหลากหลายทั้งรูปแบบและขนาด

ตัวอย่างปะการังเทียมที่สร้างจากวัสดุคอนกรีต (Szedlmayer, 1994)

          ปัจจัยหนึ่งในการออกแบบวัสดุสำหรับจัดสร้างเป็นปะการังเทียม คือ ต้องให้มีช่องว่างหรือรู เพื่อให้น้ำสามารถไหลเข้าออกได้สะดวก และส่งเสริมให้ปลาเข้ามาอยู่อาศัยภายในช่องว่างได้ (Szedlmayer, 1994) รูปแบบและรูปทรงของวัสดุที่ใช้ในการทำปะการังเทียมแต่ละประเทศจึงมีการออกแบบที่แตกต่างกัน ซึ่งวัสดุแต่ละรูปแบบก็จะมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป โดยสามารถแบ่งออกได้ดังนี้ คือ

ปะการังเทียมเพื่อเพิ่มพื้นที่ยึดเกาะของสิ่งมีชีวิตเกาะติด และเพื่อการฟื้นฟูแนวปะการัง 
          ปะการังเทียมสำหรับสิ่งมีชีวิตเกาะติดจำพวก ปะการัง สาหร่าย หอยนางรม สัตว์หน้าดินที่ยึดเกาะกับวัสดุต่างๆ หรือตัวอ่อนของสิ่งมีชีวิตในทะเล ส่วนใหญ่จะมีพื้นที่หน้าตัดแบนราบ หรือมีพื้นที่ว่างสำหรับการยึดเกาะ และมีส่วนโครงสร้างที่ซับซ้อนอยู่บ้าง เช่น มีลักษณะที่เป็นซอกเพื่อใช้เป็นที่หลบภัยของสิ่งมีชีวิตที่จะเข้ามาอยู่อาศัยในบริเวณนั้น (Bernabé and Bernabé-Quet, 1997) ซึ่งปะการังเทียมที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มพื้นที่ยึดเกาะและเพื่อการฟื้นฟูแนวปะการังมีด้วยกันหลายแบบ 

ปะการังเทียมสำหรับสิ่งมีชีวิตแบบยึดเกาะ

ปะการังเทียมสำหรับสิ่งมีชีวิตแบบยึดเกาะ

          ในปี พ.ศ. 2537 มีการทดลองสร้างปะการังเทียมเพื่อเพิ่มพื้นที่ลงเกาะให้กับตัวอ่อนปะการังบริเวณเกาะไม้ท่อน จังหวัดภูเก็ต โดยใช้แท่งคอนกรีตรูปสามเหลี่ยม (คล้ายหมอนขวาน) ขนาด 50x50x50 ลูกบาศก์เซนติเมตร แท่งคอนกรีตดังกล่าวมีลักษณะคล้ายท่อทรงกระบอกซ้อนติดกันตามแนวนอน ซึ่งเส้นผ่านศูนย์กลางของท่อจะแตกต่างกันคือ 10, 15 และ 20 เซนติเมตร เพื่อให้แท่งคอนกรีตมีความซับซ้อนแตกต่างกัน

โครงสร้างแท่งคอนกรีตซึ่งมีความแตกต่างกัน ที่ใช้ในการศึกษาบริเวณเกาะไม้ท่อจังหวัดภูเก็ต

          ต่อมาได้มีการทดลองปรับปรุงรูปร่างของแท่งคอนกรีตให้คล้ายคลึงกับก้อนปะการังมากกว่าแท่งคอนกรีตรูปสามเหลี่ยมแบบแรก โดยใช้แท่งคอนกรีตรูปโดม และใช้อวนหุ้มแท่งคอนกรีตดังกล่าว เพื่อเพิ่มพื้นที่ผิวในการลงเกาะให้แก่ตัวอ่อนของปะการัง ซึ่งจากการทดลองพบว่าแท่งคอนกรีตที่มีอวนหุ้มให้ผลดีกว่าแท่งคอนกรีตที่ไม่มีอวนหุ้ม

โครงสร้างแท่งคอนกรีตรูปโดมที่ไม่หุ้มอวนและหุ้มอวน (นลินี และคณะ , 2546)

          นอกจากนี้ยังมีการทดลองใช้วัสดุคอนกรีตอีกหลายรูปแบบเพื่อฟื้นฟูปะการัง เช่น อิฐบล็อกคอนกรีต คอนกรีตรูปโดมแบบต่างๆ เป็นต้น ซึ่งรูปแบบของปะการังเทียมที่สร้างเพื่อเพิ่มพื้นที่ลงยึดเกาะของตัวอ่อนปะการัง และฟื้นฟูแนวปะการัง ยังช่วยลดปัญหาความหนาแน่นของเรือและนักท่องเที่ยวประเภทดำน้ำในแหล่งดำน้ำแนวปะการังธรรมชาติ ลดโอกาสและปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อแหล่งดำน้ำธรรมชาติอันเนื่องจากกิจกรรมดำน้ำ เป็นการสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยให้แก่สัตว์น้ำและช่วยป้องกันและเป็นสิ่งกีดขวางการทำการประมงอวนลากในพื้นที่ใกล้แนวปะการังหรือเขตอนุรักษ์อีกด้วย (ไพทูล และคณะ, 2548)

วัสดุที่ใช้ในการศึกษาการลงเกาะของตัวอ่อนปะการัง (นลินี และคณะ, 2546)

ปะการังเทียมเพื่อเป็นแหล่งอาศัยของปลา
          Lam (2003) กล่าวว่า ลักษณะของปะการังเทียมที่สร้างเพื่อดึงดูดฝูงปลามักนิยมสร้างให้มีโครงสร้างที่ค่อนข้างซับซ้อน เช่น สร้างให้มีรูกลวงอยู่ตรงกลางของตัวปะการังเทียม เนื่องจากพวกปลาสามารถเข้าไปอยู่อาศัย หรือใช้เป็นที่หลบภัยจากผู้ล่าในบริเวณนั้นได้ ซึ่งจากการศึกษาพฤติกรรมของปลาที่เข้าอยู่อาศัยบริเวณปะการังเทียมของ Ogawa (1997) ได้สรุปว่า ปลาที่เข้าอยู่อาศัยบริเวณปะการังเทียม สามารถแบ่งออกได้ 3 ประเภท คือ
          1. ปลาที่เข้าอาศัยตั้งแต่บริเวณกลางน้ำถึงผิวน้ำ ได้แก่ กลุ่มปลาทูน่าครีบเหลือง ปลาโมง ปลาสีกุนปลาอินทรีย์ ปลาซาร์ดีน และโลมา โดยมักจะพบอยู่ห่างจากกองวัสดุที่ใช้ล่อปลา
          2. ปลาที่เข้าอยู่อาศัยบริเวณพื้นทะเลใกล้กองวัสดุ ได้แก่ กลุ่มปลาหมูสี ปลากะพง ปลาลิ้นหมา
          3. ปลาที่เข้าอาศัยอยู่เป็นประจำ ได้แก่ กลุ่มปลา Cabezon ปลา Rock trout ปลาไหลทะเล ปลาบู่ และปลากระบี่ เป็นต้นโดยมักพบอยู่ใกล้กับกองวัสดุ (Ogawa, 1997 อ้างโดย พูนสิน และคณะ, 2531) ตัวอย่างรูปแบบปะการังที่สร้างเพื่อดึงดูดปลา เช่น ในประเทศตุรกี มีรูปแบบของปะการังเทียมที่สร้างขึ้น 5 แบบที่สำคัญ ซึ่งจากการศึกษาจากแนวปะการังเทียม 3 บริเวณ คือ Hekim Island,Dalyanöy และ Ürkmez พบปลาทั้งหมด 19 ชนิด เป็นกลุ่มปลาที่เข้ามาอยู่อาศัยอยู่ในพื้นที่ (residents)13 ชนิด กลุ่มปลาที่เข้ามาเยือนพื้นที่เป็นครั้งคราว (visitor) 5 ชนิด และปลาที่เข้ามาอยู่อาศัยชั่วคราว (transient) 1 ชนิด โดยส่วนใหญ่เป็นปลาที่มีค่าทางเศรษฐกิจ คิดเป็น 58% นอกจากนี้ยังพบสาหร่ายชนิดต่างๆ อีก 100 ชนิด และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง 25 ชนิด ที่ขึ้นและอาศัยอยู่ในบริเวณปะการังเทียมทั้ง 5 แบบ (Lök et al., 2002)

ปะการังเทียมแบบต่างๆ ในประเทศตุรกี (Lök et al., 2002)

ปะการังเทียมเพื่อการท่องเที่ยว
          การจัดสร้างปะการังเทียมนอกจากจะมีประโยชน์ในด้านการประมงแล้ว ในบางบริเวณแนวปะการังเทียมยังให้ประโยชน์ทางด้านการท่องเที่ยวอีกด้วย เนื่องจากเอกลักษณ์ในตัวของมันเอง เช่น เรือจมเครื่องบินจม เป็นต้น นอกจากนี้ถ้าในบริเวณที่มีปะการังเทียมวางอยู่นั้นมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อกับการลงเกาะของตัวอ่อนปะการัง และเมื่อปะการังที่ลงเกาะเหล่านี้มีการพัฒนาขึ้น ก็จะทำให้มีสัตว์น้ำหลายชนิดเข้ามาอาศัยมากขึ้นและเกิดความสวยงามไม่แพ้แนวปะการังธรรมชาติ

ปะการังเทียมเพื่อการท่องเที่ยว

          ในประเทศไทยมีการจัดสร้างปะการังเทียมเพื่อการท่องเที่ยวเป็นครั้งแรก ในปี 2549 ภายใต้โครงการศึกษาออกแบบปะการังเทียมเพื่อเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำ บริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันเนื่องจากพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน เป็นบริเวณที่มีทรัพยากรทางทะเลที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก โดยเฉพาะบริเวณที่มีแนวปะการัง นอกจากจะสำคัญในด้านความหลากหลายทางชีวภาพและแหล่งทำการประมงแล้วยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทำรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่และแก่ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก และจากผลกระทบของคลื่นสึนามิ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ทำให้แนวปะการังบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้รับความเสียหายมากบ้างน้อยบ้าง ตามลักษณะสัณฐานของชายฝั่งทะเลของแต่ละพื้นที่ เมื่อมองภาพรวมแล้วพบว่าผลกระทบที่เกิดจากคลื่นสึนามิได้ทำให้จำนวนแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำในประเทศไทยลดลง รวมทั้งจุดดำน้ำที่เหลืออยู่ก็มีความเสื่อมโทรมลง ซึ่งปัญหาดังกล่าวอาจส่งผลให้ความเป็นแหล่งดำน้ำระดับโลกของประเทศไทยเสียหายและมีนักดำน้ำชาวต่างชาติเข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ลดลง ขณะเดียวกันในปัจจุบันกิจกรรมดำน้ำกำลังได้รับความนิยมและมีการขยายตัวเป็นอย่างมาก ทำให้แต่ละปีมีปริมาณนักดำน้ำเพิ่มมากขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งเฉพาะในจังหวัดภูเก็ตพบว่า มีผู้ประกอบการธุรกิจดำน้ำและกิจกรรมการท่องเที่ยว ที่มีความเกี่ยวข้องกับแนวปะการังมากกว่า 100 ราย โดยผู้ประกอบการที่มีเรือเป็นของตัวเองสำหรับพานักท่องเที่ยวไปยังแหล่งดำน้ำต่างๆ มีมากกว่า 70 ราย ประกอบกับแหล่งดำน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบันมีจำนวนและพื้นที่จำกัด จึงทำให้แหล่งดำน้ำซึ่งส่วนใหญ่เป็นแนวปะการังหรือกองหินใต้น้ำที่มีอยู่ตามธรรมชาติ มีความหนาแน่นของเรือและนักท่องเที่ยวที่เข้าไปใช้ประโยชน์เป็นอย่างมาก ส่งผลให้เกิดความเสื่อมโทรมของแนวปะการังทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยทางตรง เช่น การเหยียบหรือเตะปะการังให้แตกหัก ส่วนทางอ้อม เช่น การทิ้งขยะลงน้ำ การเพิ่มสารอาหารในน้ำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะมีเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนนักดำน้ำ ดังเห็นได้จากแหล่งดำน้ำหลายแห่ง เช่น อ่าวเกือก กองหินแฟนตาซี ในหมู่เกาะสิมิลัน เป็นต้น การสร้างปะการังเทียมเพื่อเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำ จึงเป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างศักยภาพในการท่องเที่ยวดำน้ำ และลดผลกระทบอันเนื่องจากกิจกรรมการท่องเที่ยวที่มีต่อแนวปะการังในธรรมชาติ โดยการใช้วัสดุต่างๆ เช่น ตู้รถไฟ แท่งซีเมนต์ หรือวัสดุอื่นๆ ที่มีความเหมาะสม ซึ่งการจัดสร้างได้แบ่งพื้นที่จัดสร้างออกเป็น 6 จังหวัด และในแต่ละจังหวัดจะมีรูปแบบของปะการังเทียมที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับเอกลักษณ์ของแต่ละจังหวัด

งานประติมากรรมใต้น้ำ จังหวัดพังงา

งานประติมากรรมใต้น้ำ จังหวัดกระบี่

งานประติมากรรมใต้น้ำ จังหวัดตรัง

องค์ความรู้ที่น่าสนใจ
  • กัดเซาะชายฝั่ง
    ประเทศไทยมีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 3,151 กิโลเมตร ครอบคลุมจังหวัดชายฝั่งทะเล 23 จังหวัดโดยชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย มีความยาว 2,040 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัด และชายฝั่งทะเลด้านอันดามัน มีความยาว 1,111 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเลรวม 6 จังหวัด
  • ThaiToxicMarineLife
    ThaiToxicMarineLife
  • ปูเสฉวนบก
    ปูเสฉวนบก
  • ป่าชายหาดและป่าพรุ
    ป่าชายหาดและป่าพรุ
  • ปฏิทินทะเล
    ปฏิทินทะเล
  • ความหลากหลายชีวภาพ
    ความหลากหลายชีวภาพ
  • พะยูน
    พะยูน
  • พะยูน : มาเรียม
    พะยูน : มาเรียม
  • ปลาฉลามวาฬ
    ปลาฉลามวาฬ