ขนาด
ปะการังเทียม
  • 16 มกราคม 2558
  • 7,474
ปะการังเทียม สารสนเทศ ทช. ศูนย์ข้อมูลกลาง ทช.

มารู้จักปะการังเทียม

ความหมายของปะการังเทียม
          ทะเลเป็นแหล่งผลิตอาหารจำพวกโปรตีนที่ใหญ่ที่สุด จากอดีตที่มนุษย์เรานำสัตว์น้ำมาใช้บริโภคน้อยกว่าสัตว์นก แต่เมื่อประชากรของโลกเพิ่มมากขึ้น อาหารที่ได้รับจากสัตว์บกย่อมไม่เพียงพอ ทำให้มีการจับสัตว์น้ำขึ้นมาใช้ประโยชน์มากขึ้น ด้วยวิธีการต่าง ๆ นานา จนเกินศักยภาพการผลิต (สันติ, 2535) ส่งผลให้ปัจจุบันหลาย ๆ ประเทศต้องประสบกับปัญหาทรัพยากรสัตว์น้ำถูกทำลายอย่างมาก Scheffer และคณะ (2005) กล่าวว่าการทำประมงเกินขนาดเป็นการทำลายทรัพยากรชายฝั่งทะเลอย่างหนึ่ง เนื่องจากทำให้ขาดความสมดุลของระบบสายใยอาหาร เพราะทำให้ปลาที่เป็นผู้ล่ามีปริมาณลดลง และที่สำคัญทำประมงเกิดขนาดมีผลให้ปริมาณสัตว์น้ำในธรรมชาติ (stock) ลดน้อยลงหรือไม่สามารถทดแทนประชากร (recruitment) ได้เพียงพอต่อความต้องการ ขณะเดียวกันมีการนำเครื่องมือที่ทันสมัยมาใช้ในการทำประมงมากขึ้น  เช่น echo-sounder และ sonar มาใช้ในการหาฝูงปลา รวมทั้งการทำประมงที่ผิดกฎหมาย เช่น การระเบิดปลา การทำประมงอวนลากบริเวณแนวปะการัง (กนกพรรณ และวิทยา, 2534) การเบื่อปลาในแนวปะการังด้วยไซยาไนต์ (cyanide) ซึ่งส่งผลให้ปะการังเกิดการฟอกขาว (Cervino et al.,2003) ประกอบกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของประเทศต่าง ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทรัพยากรสัตว์น้ำ เช่น ของเสียที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ก่อให้เกิดมลภาวะบริเวณปากแม่น้ำ อ่าวและท้องทะเล  การขุดแร่ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดตะกอนทับถมปะการังจนตาย และส่งผลกระทบให้จำนวนทรัพยากรสัตว์น้ำลดลงจากเดิม (กนกพรรณ และวิทยา, 2534) การที่ทรัพยากรสัตว์น้ำมีจำนวนจำนวนลดน้อยลง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชาวประมงและประเทศชาติ เพราะทำให้เรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็กประสบปัญหา มีรายได้ไม่แน่นอนไม่มีความมั่นคงในอาชีพ ต้องออกไปจับสัตว์น้ำโดยไม่ทราบแหล่งประมงที่แน่ชัด ใช้เวลาในการจับสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จึงเพิ่มขึ้นด้วย ส่วนเรือประมงพาณิชย์จำต้องเสี่ยงต่อการล่วงน่านน้ำของประเทศเพื่อนบ้านทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจเป็นบางครั้ง เพื่อให้ประกอบอาชีพต่อไปได้ (สมพร, 2527)

          การจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล หรือปะการังเทียม จึงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นการจัดการทรัพยากรเพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำ เนื่องจากแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลทำหน้าที่คล้าย ๆ กับแนวหินหรือแนวปะการังที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ (กนกพรรณ และวิทยา, 2534) และเป็นที่ยอมรับกันว่าการสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลหรือปะการังเทียมในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งนั้น มีประโยชน์อย่างยิ่งในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำขนาดเล็กมิให้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ก่อนถึงขนาดที่เหมาะสม และสามารถดึงดูดสัตว์น้ำนานาชนิดให้เข้ามาอยู่อาศัย หาอาหาร สืบพันธุ์ ตลอดจนสามารถพัฒนาเป็นแหล่งประมงสำหรับการประมงขนาดเล็กและประมงในเชิงพาณิชย์ (พูนสิน และคณะ, 2531) โดย Sherman และคณะ (2002) กล่าวว่าปะการังเทียมที่มีเพิ่มขึ้นทั่วโลกมีผลทำให้จำนวนปลาเพิ่มขึ้นและมีความหลากหลายเพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มอัตราการจับสัตว์น้ำเป้าหมาย และเป็นการจัดการแหล่งที่อยู่ให้แก่สัตว์ทะเล อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับแนวปะการังอีกด้วย แหล่งอาศัยสัตว์ทะเล (Artificial Habitats) หรือปะการังเทียม (Artificial reefs) คือ สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ อย่างมีแบบแผน เพื่อดัดแปลงหรือเพื่อปรับปรุง เสริมแต่งสภาพพื้นที่ท้องทะเลได้เหมาะสมกับรูปแบบที่สัตว์น้ำชอบอยู่อาศัย โดยเลียนแบบบริเวณที่มีกองหินใต้น้ำ ซากเรืออับปางซึ่งมีสัตว์น้ำชุกชุม โดยการนำวัสดุที่แข็งแรง ทนทาน ต้านกระแสน้ำได้ นำไปวางรวมกันเป็นกลุ่มอย่างมีแบบแผนเพื่อดึงดูดสัตว์น้ำให้เข้ามาอยู่อาศัย หลบภัยและมีโอกาสแพร่พันธุ์มากขึ้น (อำนาจ และคณะ, 2545) ซึ่งวัสดุที่สามารถนำมาจัดสร้างเป็นแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล ได้แก่ ก้อนหิน กิ่งไม้ ทางมะพร้าว ยางรถยนต์ รถยนต์ ตู้รถไฟ เรือรบ เรือสินค้า เครื่องบิน รถถัง ฐานขุดเจาะน้ำมัน รวมถึงการหล่อคอนกรีตเป็นก้อนหรือแท่งคอนกรีตเสริมเหล็กในรูปแบบต่าง ๆ เป็นต้น (กรมประมง, 2549) นอกจาก คำว่า ปะการังเทียมและแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลแล้ว ยังสามารถเรียกชื่อได้อีกหลายชื่อ อาทิ แนวหินเทียม ที่อยู่อาศัยทะเลเทียม หรือบ้านปลาเทียม (สมพร, 2527) และยังมีคำว่า “อูหยำ” ซึ่งเป็นภาษาเรียกพื้นบ้านที่ใช้เรียกแทนคำว่า ปะการังเทียม ของชาวไทยมุสลิมในแถบจังหวัดสงขลาจนถึงจังหวัดปัตตานี (สุนันทา, 2550) การสร้างแนวปะการังเทียมได้มีมานานแล้วในหลายประเทศ โดยเริ่มขึ้นจากแนวคิดริเริ่มของชาวญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 18 ซึ่งชาวประมงสังเกตเห็นว่าในบริเวณที่มีซากเรือหรือซากต้นไม้ทับถมกันอยู่ใต้น้ำนั้นมีปริมาณสัตว์น้ำอยู่มาก ทำให้ผลผลิตทางการประมงสูงขึ้นด้วย การสร้างปะการังเทียมจึงเริ่มขึ้นครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2338 โดยชาวประมงได้ทดลองสร้างโครงไม้ขนาดใหญ่และนำกิ่งไม้เล็กๆ มาผูกติดไว้ ถ่วงน้ำหนักด้วยถุงทราย แล้วนำไปทิ้งในทะเลที่ระดับความลึกประมาณ 38 เมตร พบว่าปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้จากบริเวณรอบๆ โครงไม้นี้มีปริมาณมากกว่าในบริเวณที่มีเรืออับปาง จึงทำให้มีการนำเอาโครงสร้างเหล่านี้ไปทิ้งในทะเลมากขึ้น ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีการบันทึกว่า เริ่มมีการสร้างแนวปะการังเทียมในทะเล (marine artificial reef) เมื่อกลางปี ค.ศ. 1800 โดยชาวประมงใช้ถังไม้ที่บรรจุด้วยคอนกรีต และนำวัสดุต่าง ๆ มาประกอบกันเป็นปะการังเทียมขึ้น เช่น การใช้เรือหรือรถยนต์เก่า ๆ ที่เอาเครื่องยนต์ออกแล้วเทปูนลงไป จากนั้นจึงนำไปวางไว้ที่บริเวณชายฝั่ง ซึ่งพบว่าปะการังเทียมที่จัดสร้างขึ้นทำให้ชาวประมงสามารถเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำได้มากขึ้น และประหยัดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ลง (สุนันทา, 2550) ทำให้มีการจัดสร้างปะการังเทียมเพิ่มมากขึ้น และมีการจัดสร้างเรื่อยมา โดยกลุ่มต่าง ๆ เช่น กลุ่มของรัฐ กลุ่มของมหาวิทยาลัยและกลุ่มผู้สนใจในท้องถิ่น เป็นต้น

          ซึ่งจากการศึกษาค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับการสร้างแนวปะการังเทียมโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ได้จากญี่ปุ่น และสถาบันค้นคว้าของสหรัฐอเมริกาเอง จึงกล่าวได้ว่า การจัดสร้างแนวปะการังเทียมเพื่อเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำในสหรัฐอเมริกานั้น มีมายาวนานกว่า 100 ปี ต่อมาแนวความคิดในการสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยสัตว์น้ำก็ได้มีการเผยแพร่ไปยังประเทศต่าง ๆ และมีการศึกษาค้นคว้ากันอย่างจริงจัง เช่น ในประเทศคิวบามีการศึกษาเปรียบเทียบการใช้วัสดุระหว่างคอนกรีตกับยางรถยนต์ในการสร้างแนวปะการังเทียม ในประเทศแคนาดา ได้ศึกษาการสร้างแนวปะการังเทียมสำหรับกุ้งมังกรชนิด Hamarus americanus และประสานผลสำเร็จในช่วงปี ค.ศ. 1964-1968 ส่วนประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือว่าเป็นผู้เริ่มนำความคิดนี้เข้ามาใช้เพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำเป็นประเทศแรกนั้น ปัจจุบันได้มีการพัฒนาไปมากแล้ว ทั้งรูปแบบ ขนาดของวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง อายุการใช้งาน ความจำเพาะเจาะจงต่อชนิดสัตว์น้ำ เป็นต้น (ตาบส์ทิพย์, 2530) ซึ่งจากการศึกษาความซับซ้อนภายในโครงสร้างของปะการังเทียมที่มีรูปร่างแบบ Reef Ball ที่มีผลต่อปลาที่เข้ามาอาศัยอยู่โดย Sherman และคณะ (2002) พบว่า ความซับซ้อนของโครงสร้างปะการังเทียมจะมีผลต่อการดึงดูดชนิดและขนาดของปลาที่ไม่เหมือนกัน นอกจากนี้การจัดสร้างปะการังเทียมยังเป็นการเพิ่มพื้นผิวสำหรับการปลูกปะการังได้อีกด้วย

วิวัฒนาการของการสร้างปะการังเทียมในต่างประเทศ (ที่มา : http://www.reefball.org/index.html)

          วิวัฒนาการของวัสดุที่ใช้สร้างปะการังเทียม มีตั้งแต่วัสดุง่าย ๆ หาได้จากธรรมชาติ เช่น ท่อนไม้ ไม้ไผ่ ทางมะพร้าว เปลือกหอย และก้อนหิน เป็นต้น และวัสดุเหลือใช้ต่าง ๆ ได้แก่ รถยนต์เก่า เรือที่ปลดระวาง ตู้รถไฟ ยางรถยนต์ คอนกรีตจากการก่อสร้าง เช่น ท่อระบายน้ำ เศษคอนกรีตจากอาคารที่ถูกทำลาย ถนนและสะพาน ตลอดจนวัสดุคอนกรีตรูปทรงต่าง ๆ ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ เช่น รูปแบบที่เรียกว่า “Reef Ball” และแท่งคอนกรีตรูปสี่เหลี่ยมขนาดต่าง ๆ เป็นต้น 

ปะการังเทียมประเภท Reef Ball

          ซึ่งที่รัฐฟลอริด้า ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ก่อตั้งมูลนิธิ Reef Ball Foundation ขึ้นมาเพื่อการทำกิจการด้านปะการังเทียม ซึ่งเป็นการดำเนินการในรูปของธุรกิจ และการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูทรัพยากรใต้ทะเล โดยปะการังเทียมแบบ Reef Ball มีโครงสร้างแบบวงกลม และมีช่องให้ปลาและสัตว์น้ำต่าง ๆ ได้เข้ามาอยู่อาศัย โดยมีขนาดแตกต่างกันไปหลายขนาด

          นอกจากปะการังเทียมทรง Reef Ball แล้ว ยังมีการจัดสรรปะการังเทียมด้วยวัสดุที่มีขนาดใหญ่อีกด้วย เช่น การจัดสร้างในประเทศฝรั่งเศส โดยใช้วัสดุที่มีขนาดใหญ่ที่เรียกว่า LARU (รูปที่ 3) ซึ่งเป็นปะการังเทียมที่มีความซับซ้อนของแหล่งอาศัยน้อย มีรูปร่างเป็นกล่องโปร่งที่มีช่องว่างขนาดใหญ่ (Charbonel et al.,2002) แต่อย่างไรก็ตาม พบว่า ปะการังเทียมที่เป็นที่เป็นที่นิยมสร้าง มักมีรูปแบบเป็นลูกบาศก์ (cubic unit) เนื่องจากขนส่งได้ง่าย โดย Bains (2001) ได้ทำการรวบรวมรายงานการศึกษาเกี่ยวกับปะการังเทียมทั่วโลก พบว่า มีวัสดุมากมายที่ถูกนำมาใช้ทำปะการังเทียม ได้แก่ คอนกรีต ยางรถยนต์ ยานพาหนะเก่า เช่น รถยนต์ ตู้รถไฟ หิน พลาสติก ไม้และโลหะ เป็นต้น แต่พบว่าวัสดุที่มีการใช้มากที่สุด คือ คอนกรีต ซึ่งเป็นวัสดุที่สามารถใช้ทำปะการังเทียมเพื่อตอบสนองทุกวัตถุประสงค์ ปะการังเทียมบางแห่งในบางประเทศเป็นไปเพื่อการจัดการวัสดุเหลือใช้จากอุตสาหกรรม เช่น การใช้ Coal Fly Ash (CFA) เป็นส่วนประกอบในคอนกรีตที่ใช้สร้างปะการังเทียม ซึ่งทำในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (Kress et al., 2002) และการใช้ Pulverise Fuel-Ash (PFA) ผสมในคอนกรีตเพื่อทำปะการังเทียมที่ฮ่องกง ซึ่งพบว่า มีการลงเกาะของปะการังดำ Oulastrea crispara มากขึ้นในแท่งคอนกรีตที่มีส่วนผสมของ PFA มาก แสดงให้เห็นถึงส่วนผสมของ PFA จะมีความสำคัญในการเป็นวัสดุในการทำปะการังเทียม (Lam, 2003)

          สำหรับแนวคิดเกี่ยวกับการวางปะการังในประเทศไทยนั้น มีมานานแล้วเพียงแต่เป็นลักษณะที่ไม่มั่นคงหรือยั่งยืน ส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมปลาให้มาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากสำหรับการประมงเท่านั้น (Fish aggregation devices) เช่นการจัดสร้างปะการังเทียมในรูปแบบของซั้ง หรือกร่ำ แต่ก็ยังไม่ถือว่าเป็นการวางปะการังเทียมที่แท้จริง

          แนวคิดในการวางปะการังเทียมเพื่อป้องกันหรืออวนลากที่เข้ามาลากในเขตห้ามทำการประมง 3,000 เมตร จากฝั่ง เกิดจากชาวประมงพื้นบ้าน โดยจะใช้วัสดุที่เป็นคอนกรีตและมีก้านที่เป็นเหล็กแหลมคมยื่นออกมา นำไปวางไว้ในทะเลเพื่อทำลายอวนลากที่เข้ามาทำการประมงในเขต 3,000 เมตร แนวคิดการวางปะการังเทียมเพื่อฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ เป็นแนวคิดที่แพร่หลายที่สุด การวางปะการังเทียมพื้นฟูแหล่งอาศัยสำหรับสัตว์น้ำในประเทศไทย เกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2521 ที่จังหวัดระยอง ซึ่งมีการรายงานว่าพบสัตว์น้ำในกลุ่มแรก ๆ เข้ามาอยู่อาศัยเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งไบรโอซัว ปะการัง และเม่นทะเล ส่วนปลาจะเข้ามาอาศัยหลบภัยในภายหลัง (Boonkert, 1979) จากนั้นจึงมีโครงการวางปะการังเทียมขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ที่อ่าวพังงา ในปี พ.ศ. 2525 (Lohakarn, 1984; Parnichsook et al.,1985) การวางโครงสร้างแหล่งคอนกรีตเพื่อเพิ่มพื้นผิวในการลงเกาะให้แก่ปะการังแท้ ซึ่งเป็นโครงการฟื้นฟูแนวปะการังที่เกาะไม้ท่อน จังหวัดภูเก็ต เป็นอีกแนวความคิดหนึ่งที่เกี่ยวกับการวางปะการังเทียม ซึ่งนอกเหนือจากจุดประสงค์เพื่อการเป็นเพียงแหล่งอาศัยให้กับสัตว์น้ำเท่านั้น แต่เป็นการช่วยเสริมโครงสร้างที่มีความมั่นคงเพื่อเร่งให้มีการลงเกาะของตัวอ่อนปะการับ และทำให้แนวปะการังมีการฟื้นตัวที่เร็วขึ้นอีกด้วย (Thongtham and Chansang, 1999) วัสดุและรูปแบบของแนวปะการังเทียมที่วางในประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีอยู่มากมายหลายรูปแบบ เช่น ในจังหวัดระยอง ปะการังเทียมที่ใช้ในช่วงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521-2530 มีความหลากหลายของวัสดุที่นำมาสร้าง คือ ยางรถยนต์ แท่งคอนกรีตบล็อกสี่เหลี่ยม ปลายบ่อ ท่อ คสล. หิน และไม้ (สันติ, 2531) ต่อมาในปี พ.ศ. 2526 มีการใช้วัสดุที่เป็นโครงสร้างคอนกรีตที่หล่อเป็นแท่งสี่เหลี่ยม โปร่ง และแบบปิรามิด จัดสร้างปะการังเทียมบริเวณหน้าสถาบันเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดสงขลา (NICA) (Parnichsook et al.,1985) ในจังหวัดสตูล พ.ศ. 2528-2529 มีการนำท่อมาวางเป็นปะการังเทียมบริเวณหน้าหมู่บ้านชาวประมงจังหวัดสตูล (Awaiwanon and Poonyanudech, 1988) และการใช้แท่งคอนกรีตหล่อที่เรียกว่า Reef ball มาสร้างปะการังเทียม ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกที่จังหวัดภูเก็ต

Large Artificial Reef Unit (LARU) (Charbonel et al., 2002)

          การวางปะการังเทียมที่จังหวัดปัตตานี และนราธิวาส ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2544 จนถึงปัจจุบันนี้ มีการใช้วัสดุที่แตกต่างกัน เช่น แท่งคอนกรีตสี่เหลี่ยม ตู้รถไฟเก่า ท่อซีเมนต์ และมีการดำเนินการจัดวางในหลายพื้นที่ ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็มีรูปแบบการจัดวางที่แตกต่างกัน ทั้งในด้านจำนวน การจัดเรียงตัว ลักษณะพื้นท้องทะเล ระดับความลึก ซึ่งผลของจำนวนวัสดุ ขนาดและชนิดของวัสดุ ตลอดจนลักษณะการจัดวาง และปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อประชาคมสัตว์ทะเลที่เข้ามาอยู่อาศัยในแหล่งอาศัยเหล่านี้ ที่ผ่านมายังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนมากนัก

การใช้ตู้รถไฟประเภทตู้สินค้ามาจัดสร้างปะการังเทียม ตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปัตตานีและนราธิวาส

          รูปทรงของปะการังเทียมมีปลายประเภทแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์วัสดุที่นิยมใช้จัดวางเป็นปะการังเทียมในปัจจุบัน คือ วัสดุที่ทำจากคอนกรีต เนื่องจากมีความทนทาน อายุการใช้งานนาน มีน้ำหนักมาก มีการเคลื่อนตัวจากตำแหน่งน้อย ส่งผลกระทบเสียต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลน้อย และเป็นที่ยึดเกาะของสิ่งมีชีวิตพวกเกาะติดได้เป็นอย่างดี และกลายเป็นแหล่งอาหารของปลาขนาดใหญ่ในลักษณะของสายใยอาหาร (food web) ซึ่งในปัจจุบันคอนกรีตที่นำมาจัดวางเป็นปะการังเทียมมีหลากหลายทั้งรูปแบบและขนาด

11

รูปตัวอย่างปะการังเทียมที่สร้างจากวัสดุคอนกรีต ที่มา : Szedlmayer (1994)

          ปัจจัยหนึ่งในการออกแบบวัสดุสำหรับจัดวางเป็นปะการังเทียม คือ ต้องให้มีช่องว่างหรือรู เพื่อให้น้ำสามารถไหลเข้าออกได้สะดวก และส่งเสริมให้ปลาเข้ามาอยู่อาศัยภายในช่องว่างได้ (Szedlmayer, 1994)รูปแบบและรูปทรงของวัสดุที่ใช้ในการทำปะการังเทียมแต่ละประเทศจึงมีการออกแบบที่แตกต่างกัน ซึ่งวัสดุแต่ละรูปแบบก็จะมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป โดยสามารถแบ่งออกได้ดังนี้

1. ปะการังเทียมเพื่อเพิ่มพื้นที่ยึดเกาะของสิ่งมีชีวิตเกาะติด และเพื่อการฟื้นฟูแนวปะการัง
          ปะการังเทียมสำหรับสิ่งมีชีวิตเกาะติดจำพวก ปะการัง สาหร่าย หอยนางรม สัตว์หน้าดินที่ยึดเกาะกับวัสดุต่างๆ หรือตัวอ่อนของสิ่งมีชีวิตในทะเล ส่วนใหญ่จะมีพื้นที่หน้าตัดแบนราบ หรือมีพื้นที่ว่างสำหรับการยึดเกาะ และมีส่วนโครงสร้างที่ซับซ้อนอยู่บ้าง เช่น มีลักษณะที่เป็นซอกเพื่อใช้เป็นที่หลบภัยของสิ่งมีชีวิตที่จะเข้ามาอยู่อาศัยในบริเวณนั้น ซึ่งปะการังเทียมที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มพื้นที่ยึดเกาะและเพื่อการฟื้นฟูแนวปะการังมีด้วยกันหลายแบบ

2. ปะการังเทียมเพื่อเป็นแหล่งอาศัยของปลา
           ลักษณะของปะการังเทียมที่สร้างเพื่อดึงดูดฝูงปลามักนิยมสร้างให้มีโครงสร้างที่ค่อนข้างซับซ้อน เช่น สร้างให้มีรูกลวงอยู่ตรงกลางของตัวปะการังเทียม เนื่องจากพวกปลาสามารถเข้าไปอยู่อาศัย หรือใช้เป็นที่หลบ-ภัยจากผู้ล่าในบริเวณนั้นได้ (Lam, 2003) ซึ่งจากการศึกษาพฤติกรรมของปลาที่เข้าอยู่อาศัยบริเวณปะการังเทียมของ Ogawa (1997) ได้สรุปว่าปลาที่เข้าอยู่อาศัยบริเวณปะการังเทียม สามารถแบ่งออกได้ 3 ประเภท คือ 1) ปลาที่เข้าอาศัยตั้งแต่บริเวณกลางน้ำถึงผิวน้ำ ได้แก่ กลุ่มปลาทูน่าครีบเหลือง ปลาโมง ปลาสีกุน ปลาอินทรีย์ ปลาซาร์ดีน และโลมา โดยมักจะพบอยู่ห่างจากกองวัสดุที่ใช้ล่อปลา 2) ปลาที่เข้าอยู่อาศัยบริเวณพื้นทะเลใกล้กองวัสดุ ได้แก่ กลุ่มปลาหมูสี ปลากะพง ปลาลิ้นหมา 3) ปลาที่เข้าอาศัยอยู่เป็นประจำ ได้แก่ กลุ่มปลา Cabezon ปลา Rock trout ปลาไหลทะเล ปลาบู่ และปลากระบี่ เป็นต้นโดยมักพบอยู่ใกล้กับกองวัสดุ (Ogawa, 1997 อ้างโดย พูนสิน และคณะ, 2531)

3. ปะการังเทียมเพื่อการท่องเที่ยว
          การจัดวางปะการังเทียมนอกจากจะมีประโยชน์ในด้านการประมงแล้ว ในบางบริเวณแนวปะการัง ยังให้ประโยชน์ทางด้านการท่องเที่ยวอีกด้วย เนื่องจากเอกลักษณ์ในตัวของมันเอง เช่น เรือจม เครื่องบินจม หรือแม้แต่การสร้างสถาปัตยกรรมใต้น้ำ เป็นต้น นอกจากนี้ถ้าในบริเวณที่มีปะการังเทียมวางอยู่นั้นมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อกับการลงเกาะของตัวอ่อนปะการัง และเมื่อปะการังที่ลงเกาะเหล่านี้มีการพัฒนาขึ้น ก็จะทำให้มีสัตว์น้ำหลายชนิดเข้ามาอาศัยมากขึ้นและเกิดความสวยงามไม่แพ้แนวปะการังธรรมชาติ

ปะการังเทียมเพื่อเพิ่มพื้นที่ยึดเกาะของสิ่งมีชีวิตเกาะติด และเพื่อการฟื้นฟูแนวปะการัง

ปะการังเทียมเพื่อเป็นแหล่งอาศัยของปลา

ปะการังเทียมเพื่อการท่องเที่ยว

องค์ความรู้ที่น่าสนใจ
  • ปะการัง
    เป็นแนวหินปูนใต้ทะเลในระดับน้ำตื้นที่แสงแดดส่องถึง หินปูนดังกล่าวเป็นผลมาจากการเจริญเติบโตของปะการังหลายๆ ชนิด นอกจากนี้ ยังมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
  • พะยูน
    พะยูน
  • ที่ดินชายฝั่ง
    ที่ดินชายฝั่ง
  • เต่ามะเฟือง
    เต่ามะเฟือง
  • PMBC Special Publication
    PMBC Special Publication
  • หาดในประเทศไทย
    จากการสำรวจแหล่งธรรมชาติประเภทหาดทรายทั่วประเทศ ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปี 2560 พบว่ามีชายหาดรวม 521 แห่ง กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ 21 จังหวัด โดยอยู่ทางฝั่งอ่าวไทย 360 แห่ง แบ่งเป็นชายหาดที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ (กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช) 49 แห่ง อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่นๆ เช่น ท้องถิ่น กองทัพเรือ และส่วนราชการอื่นๆ อีก 311 แห่ง สำหรับข้อมูลชายหาดฝั่งทะเลอันดามัน พบว่ามีชายหาด 161 แห่ง อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ 78 แห่ง นอกเขตอุทยานแห่งชาติ 83 แห่ง
  • หญ้าทะเล
    หญ้าทะเล
  • ThaiToxicMarineLife
    ThaiToxicMarineLife
  • ป่าชายหาดและป่าพรุ
    ป่าชายหาดและป่าพรุ