ขนาด
ป่าชายเลน
  • 8 กรกฎาคม 2556
  • 1,278
ป่าชายเลน สารสนเทศ ทช. ศูนย์ข้อมูลกลาง ทช.

พื้นที่ป่าชายเลนในอดีต

          การสำรวจพื้นที่ป่าชายเลนครั้งแรกในปี พ.ศ. 2504 พบว่ามีพื้นที่ป่าชายเลนประมาณ 2,299,375 ไร่ และลดลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับการเพิ่มของประชากรประกอบกับรัฐบาลอนุญาตให้เอกชนทำไม้ป่าชายเลน โดยให้สัมปทานทำไม้ป่าชายเลน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพื้นที่ป่าชายเลนได้มีการเปลี่ยนแปลงและมีการใช้ประโยชน์จากกิจกรรมต่างๆ มาโดยตลอดทำให้พื้นที่ป่าชายเลนลดลงมา เนื่องจากสาเหตุสำคัญหลายประการ ได้แก่ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การบุกรุกเพื่อทำนากุ้ง การทำนาเกลือ การขยายตัวของเขตเมือง การท่องเที่ยวและการอุตสาหกรรม และในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2522 – 2530 การเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำเป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากให้ผลตอบแทนสูง ทำให้ราษฎรเข้าบุกรุกแผ้วถางตัดไม้ป่าชายเลนและยึดถือครอบครอง เปลี่ยนสภาพพื้นที่ป่าชายเลนไปเป็นบ่อเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำจำนวนมาก โดยเฉพาะฝังอ่าวไทยตั้งแต่จังหวัดตราดไปจนถึงจังหวัดปัตตานี พบว่าพื้นที่ป่าชายเลนถูกเปลี่ยนสภาพไปถึง 567,001 ไร่ ในปี พ.ศ. 2539 พบว่าพื้นที่ป่าชายเลนมีเหลืออยู่น้อยที่สุด โดยเหลืออยู่เพียง 1,047,390 ไร่ เท่านั้น ต่อมาสภาพแวดล้อมชายฝั่งที่เสื่อมโทรมทำให้การเลี้ยงกุ้งกุลาดำไม่ประสบผลสำเร็จอย่างที่เคยในอดีต ประกอบกับความผันผวนของราคากุ้งกุลาดำในตลาด ทำให้ผู้เลี้ยงจำนวนมากเลิกกิจการไป ปล่อยให้บ่อเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำเป็นพื้นที่รกร้าง แต่ยังมีการครอบครองซื้อขายสิทธิ์ในที่ดินป่าชายเลนอย่างผิดกฎหมาย การบุกรุกทำลายป่าชายเลนโดยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจึงเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการเข้าทำประโยชน์เพื่อที่อยู่อาศัย การเกษตร และการท่องเที่ยว

          อย่างไรก็ตามยังมีชุมชนชายฝั่งที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลนหรือติดกับป่าชายเลนประมาณ 1,000 หมู่บ้าน ยังมีความจำเป็นที่ต้องพึ่งพาอาศัยป่าชายเลนตามวิถีชีวิตและภูมิปัญญาที่มีอยู่ ทั้งด้านการทำประมงชายฝั่งและการใช้ไม้เพื่อใช้สอยในครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันหากจะจำแนกสภาพปัญหาป่าชายเลนตามสภาพพื้นที่และวิถีชีวิต วัฒนธรรมแล้ว สามารถแบ่งออกได้ ดังนี้

          พื้นที่ป่าชายเลนที่ยังคงมีความสมบูรณ์อยู่ และมีบางส่วนที่ชุมชนเข้าไปอยู่อาศัย และใช้ประโยชน์ต่างๆ พบมากในบริเวณพื้นที่ป่าชายเลนชายฝั่งทะเลอันดามัน ในจังหวัดระนอง พังงา กระบี่ ตรัง สตูล และจังหวัดภูเก็ต ปัจจุบันป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ของไทยจึงเหลืออยู่ไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะได้รับความคุ้มครองเนื่องจากอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เช่น อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา เป็นต้น

          พื้นที่ป่าชายเลนที่มีราษฎรเข้าบุกรุกครอบครองและเข้าใช้ประโยชน์เพื่อการเลี้ยงกุ้ง พบมากในพื้นที่ป่าชายเลนบริเวณภาคตะวันออกในจังหวัดระยอง และจันทบุรี บริเวณภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ท้องที่จังหวัดสุราษฏร์ธานีธานี และนครศรีธรรมราช

          พื้นที่ป่าชายเลนที่ออกเอกสารสิทธิครอบครองตามกฎหมายและมีอาชีพการปลูกป่าชายเลน แต่ประสบปัญหาไม้คุ้มทุน จึงเปลี่ยนแปลงไปทำเป็นพื้นที่นากุ้ง และขายที่ดินให้กับเอกชน ปัจจุบัน มีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ส่วนในบริเวณพื้นที่ป่าชายเลนบริเวณอ่าวไทยตอนบน ในจังหวัดฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และจังหวัดเพชรบุรี

          พื้นที่ป่าชายเลนของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2504 พบว่า มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 2,299,375 ไร่ หรือร้อยละ 0.72 ของพื้นที่ประเทศ ในระยะ 25 ปีต่อมาพื้นที่ป่าชายเลนได้ลดลงอย่างรวดเร็ว จากการสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2529 ปรากฏว่ามีพื้นที่ป่าชายเลนประมาณ 1,220,000 ไร่ หรือลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง ต่อมาป่าชายเลนยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มอัตราการบุกรุกเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2534 พื้นที่ป่าชายเลนคงเหลือเพียง 1,076,250 ไร่ หรือร้อยละ 0.33 ของพื้นที่ประเทศ ซึ่งคิดเป็นพื้นที่ถูกทำลาย 1,223,125 ไร่ หรือประมาณร้อยละ 54 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2504 และลดลงเหลือประมาณ 1,047,781.25 ไร่ ในปี พ.ศ. 2539 แต่หลังจากปี พ.ศ. 2539 มีพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้นเนื่องจากได้มีนโยบายการฟื้นฟูป่าชายเลน เช่น การปลูกป่าทดแทนและการลดการบุกรุกทำลายป่า ส่งผลให้ในปี พ.ศ. 2543 พื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้น 1,578,750 ไร่ และเป็น 2,384 ไร่ ในปี พ.ศ. 2547 โดยมีพื้นที่เพิ่มขึ้นมากกว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (ปี พ.ศ. 2545–2549) ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าควรมีป่าชายเลนทั้งประเทศประมาณ 1,250,000 ไร่ หากเทียบอัตราการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าชายเลนรายจังหวัดในช่วงปี พ.ศ. 2518-2536 พบว่า จังหวัดชลบุรีมีอัตราลดลงเฉลี่ยต่อปีมากที่สุดถึงร้อยละ 5.42 เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลและการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว

ตารางที่ พื้นที่ป่าชายเลนในประเทศไทยปี พ.ศ. 2504-2552 (หน่วย : ตารางกิโลเมตร)

จังหวัด 2504 2518 2522 2529 2532 2534 2539 2543 2547 2552
อ่าวไทย 1,365.00 1,213.36 1,061.12 489.98 390.82 238.58 347.59 712.10 648.06 672.27
ตราด 129 106 98.4 88.18 86.35 77.50 75.34 95.17 108.01 99.16
จันทบุรี 154 261 240.64 145.42 86.96 26.95 38.93 125.73 117.94 120.69
ระยอง 17 55 46.08 24.18 17.58 1.54 6.56 18.82 13.93 18.05
ชลบุรี - 38 4.32 14.98 8.93 1.50 0.92 7.14 7.22 8.89
ฉะเชิงเทรา - 30 23.2 7.4 5.69 3.67 4.83 17.47 12.50 11.69
สมุทรปราการ - 6 8.8 1.03 - - 2.97 11.55 14.66 20.04
กรุงเทพฯ - - - - - - 1.98 5.20 4.06 5.36
สมุทรสาคร - 185 144.16 1.42 - - 16.96 30.80 23.85 40.41
สมุทรสงคราม - 82 76.48 0.49 - - 11.45 25.53 22.58 22.84
เพชรบุรี 22 88 77.92 5.77 4.89 3.36 20.70 30.67 10.48 29.71
ประจวบคีรีขันธ์ 11 4.16 3.36 1.45 1.10 0.70 0.43 5.00 4.33 2.73
ชุมพร 81 74 69.28 36.29 22.65 18.18 31.84 72.47 64.86 51.58
สุราษฎร์ธานี 256 37 58.08 42.84 37.67 22.04 31.82 93.00 52.02 74.52
นครศรีธรรมราช 612 155 128.32 88.36 93.21 80.25 84.16 94.20 140.96 117.68
พัทลุง 14 19 16.32 1.04 1.32 0.60 1.41 2.17 3.27 0.64
สงขลา 13 59 51.84 12.85 6.88 2.29 6.23 34.89 10.23 12.79
ปัตตานี 56 14.2 13.92 18.28 17.59 - 11.05 42.30 37.17 35.19
นราธิวาส - - - - - - - - - 0.30
ทะเลอันดามัน 2,314 1,936.2 1,781.56 1,461.96 1,421.69 1,483.51 1,328.86 1,813.82 1,736.36 1,767.83
ระนอง 306 258 225.92 216.14 211.77 194.70 192.37 272.54 253.35 247.12
พังงา 574 511 487.16 364.20 356.29 335.10 304.42 420.38 434.60 440.51
ภูเก็ต 45 31 28.48 19.35 17.86 15.54 15.12 18.76 16.95 19.72
กระบี่ 537 333.2 317.6 303.12 296.43 319.15 282.55 350.94 358.75 349.10
ตรัง 390 340 330.24 246.76 250.40 308.49 240.95 357.88 327.43 353.56
สตูล 462 463 392.16 312.39 288.93 310.53 293.44 393.32 345.28 357.82
รวมทั้งประเทศ 3,679 3,149.56 2,842.68 1,951.94 1,812.51 1,722.09 1,676.45 2,525.92 2,384.42 2,440.10
องค์ความรู้ที่น่าสนใจ
  • วาฬบรูด้า
    วาฬบรูด้า
  • พะยูน : มาเรียม
    พะยูน : มาเรียม
  • สมุทรศาสตร์
    สมุทรศาสตร์
  • หาดในประเทศไทย
    จากการสำรวจแหล่งธรรมชาติประเภทหาดทรายทั่วประเทศ ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปี 2560 พบว่ามีชายหาดรวม 521 แห่ง กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ 21 จังหวัด โดยอยู่ทางฝั่งอ่าวไทย 360 แห่ง แบ่งเป็นชายหาดที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ (กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช) 49 แห่ง อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่นๆ เช่น ท้องถิ่น กองทัพเรือ และส่วนราชการอื่นๆ อีก 311 แห่ง สำหรับข้อมูลชายหาดฝั่งทะเลอันดามัน พบว่ามีชายหาด 161 แห่ง อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ 78 แห่ง นอกเขตอุทยานแห่งชาติ 83 แห่ง
  • คลื่นย้อนกลับ Rip Currents
    กระแสน้ำรูปเห็ด
  • PMBC Research Bulletin
    PMBC Research Bulletin
  • เต่ามะเฟือง
    เต่ามะเฟือง
  • นกในเขตชายฝั่งทะเล
    นกในระบบนิเวศชายฝั่งทะเล
  • หญ้าทะเล
    หญ้าทะเล