ขนาด
ป่าชายเลน
  • 7 กรกฎาคม 2556
  • 371
ป่าชายเลน สารสนเทศ ทช. ศูนย์ข้อมูลกลาง ทช.

ปัจจัยสิ่งแวดล้อมของป่าชายเลน

          สภาพแวดล้อมโดยทั่วไปของป่าชายเลนมีความแตกต่างออกไปอย่างมากจากป่าชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะดินในป่าชายเลนมีความอุดมสมบูรณ์สูงจากธาตุอาหารที่มาจากการกันเซาะตามชายฝั่ง และแหล่งน้ำลำธาร สารอินทรีย์จากซากพืชซากสัตว์ในบริเวณป่าชายเลนเอง โดยเฉพาะใบไม้ที่ร่วงหล่นทับถมกันเป็นจำนวนมาก และแพลงก์ตอนพืชและสาหร่าย น้ำบริเวณนี้มีความเค็มค่อนข้างต่ำ ระดับความเค็มของน้ำเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามระดับน้ำที่ขึ้นลงและปริมาณน้ำจืดไหลมาจากแม่น้ำลำคลอง สัตว์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลน ต่างก็ได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมที่ต่างไปจากสัตว์ในป่าบกทั่วไปเช่นกัน โดยเฉพาะสัตว์ที่อาศัยอยู่ตามพื้นป่า ซึ่งอาศัยคืบคลานหรือเกาะหรือขุดรูอยู่ตามพื้นดิน รวมทั้งชนิดที่อาศัยอยู่ในน้ำจะต้องมีการปรับตัวอย่างมากเพื่อการอยู่รอด เนื่องจากต้องประสบกับสภาวะต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เป็นประจำหรือต้องอยู่ในสภาพไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตโดยทั่วไป เช่น สภาวะที่ทำให้มีการสูญเสียน้ำออกจากลำตัว สภาพอุณหภูมิสูง สภาพที่มีปริมาณออกซิเจนค่อนข้างต่ำของดินเลน และการเปลี่ยนแปลงความเค็มของน้ำ สัตว์พวกนี้ ได้แก่ หอย ปู กุ้ง หนอนตัวกลม หนอนตัวแบน ไส้เดือนทะเล และครัสเตเชียน (สัตว์ไม่มีกระดูสันหลังจำพวกกุ้ง ปู) เป็นต้น ชุมชนในป่าชายเลนจะประกอบไปด้วยสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ จำนวนมากที่สามารถปรับตัวอยู่ได้ ทำให้ป่าชายเลนมีความอุดมสมบูรณ์ เป็นที่วางไข่และอนุบาลตัวอ่อนและ ที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจหลายชนิด

ปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่มีบทบาทสำคัญในการดำรงชีวิตของพืชและสัตว์ในป่าชายเลน คือ
          1. ลักษณะภูมิประเทศชายฝั่ง ป่าชายเลนโดยทั่วไปชอบขึ้นอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลที่มีสภาพเป็นดินเลน และเป็นที่ราบกว้างมีน้ำทะเลท่วมถึงอย่างสม่ำเสมอ
          2. ภูมิอากาศ ปัจจัยสภาวะแวดล้อมที่เกี่ยวกับภูมิอากาศที่สำคัญ ได้แก่ แสง อุณหภูมิ ฝนและลม ป่าชายเลนส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่ในเขตโซนร้อน เพราะมีสภาพภูมิอากาศเหมาะสม
          3. น้ำขึ้น-น้ำลง เป็นปัจจัยที่สำคัญในการกำหนดการแบ่งเขตการขึ้นอยู่ของพันธุ์ไม้ หรือ สัตว์น้ำในป่าชายเลน ผลต่างของน้ำขึ้นน้ำลงเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของลักษณะภายนอกของพันธุ์ไม้ โดยเฉพาะระบบราก รากค้ำจุนและรากหายใจจะมีขนาดใหญ่และสูงจากผิวดินมากถ้าขึ้นอยู่ในพื้นที่ที่ผลต่างของน้ำขึ้นน้ำลงกว้าง
          4. คลื่นและกระแสน้ำ คลื่นและกระแสน้ำช่วยพัดพาฝักของไม้ป่าชายเลนไปสู่แหล่งต่างๆ นอกจากนี้คลื่นและกระแสน้ำ นอกจากจะเป็นตัวการที่สำคัญที่ทำให้มีการตกตะกอนบริเวณชายฝั่ง ซึ่งจะทำให้มีพันธุ์ไม้ป่าชายเลนมาขึ้นอยู่แล้ว ยังช่วยพัดพาธาตุอาหารจากป่าชายเลนออกไปสู่ชายฝั่งและทะเล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสัตว์น้ำ และการเพาะเลี้ยงชายฝั่งอย่างมาก
          5. ความเค็มของน้ำ และความเค็มของน้ำในดิน มีความสำคัญต่อการกระจายของพันธุ์ไม้และ สัตว์น้ำในป่าชายเลนที่ความเค็มของน้ำต่างกันจะมีลักษณะของพันธุ์ไม้และชนิดของสัตว์ต่างกัน
          6. ปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของพืชและสัตว์นานาชนิด ปริมาณออกซิเจนละลายมากหรือน้อยเป็นตัวจำกัดทั้งชนิด การเจริญเติบโตของพืช และการแพร่กระจายของสัตว์น้ำ นอกจากนี้การเกิดขบวนการย่อยสลายของเศษใบไม้หรืออินทรีย์สารจะเร็วหรือช้ายังขึ้นอยู่กับปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำเป็นสำคัญ
          7. ดินในป่าชายเลนเป็นดินที่เกิดจากการทับถมของตะกอนที่ไหลมากับน้ำจากแหล่งต่างๆ และการตกตะกอนของสารแขวนลอยในมวลน้ำ ตลอดจนการสลายตัวของอินทรีย์สาร ดินเป็นปัจจัยหนึ่งที่มี ส่วนในการจำกัดการเจริญเติบโต และการกระจายของพันธุ์ไม้ และสัตว์ในป่าชายเลน ตัวอย่างเช่น ไม้โกงกางใบใหญ่ขึ้นได้ดีในดินเลนค่อนข้างลึก ไม้แสมทะเลและไม้พังกาหัวสุมสามารถขึ้นได้ดีในพื้นที่ดินเลนปนทราย
          8. ธาตุอาหารที่จำเป็นในการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตในป่าชายเลน มีแหล่งที่มาจากภายนอกป่าชายเลนและจากป่าชายเลนเอง คือ มาจาก น้ำฝน น้ำที่ไหลผ่านแผ่นดิน จากดินตะกอน จากน้ำทะเลและจากการผุสลายของอินทรียวัตถุในป่าชายเลน จากสิ่งมีชีวิตที่ผ่านขั้นตอนต่างๆ ในการย่อยสลาย จากแพลงก์ตอนพืช ไดอะตอม แบคทีเรีย สาหร่ายที่เกาะตามต้นไม้ รากไม้ และพืชชนิดอื่นๆ ในป่าชายเลน ซากสัตว์ สิ่งขับถ่ายของสัตว์ หรือมาจากสารแขวนลอยในน้ำที่ไหลมาจากแหล่งน้ำลำธาร ซากพืชและซากสัตว์ที่อยู่บนฝั่งหรือในทะเล ชิ้นส่วนต่างๆ ของพืชที่ลมพัดพามา

องค์ความรู้ที่น่าสนใจ