ป่าชายเลน
- 2 กรกฎาคม 2556
- 2,621
ชีววิทยาและนิเวศวิทยาป่าชายเลน
ชนิดและการแพร่กระจายของป่าชายเลน
ป่าชายเลนประกอบด้วยชนิดพรรณไม้หลายชนิด และเป็นไม้ไม่ผลัดใบ (evergreen species) มีการปรับตัวของลักษณะทางสรีรวิทยาเพื่อสามารถเจริญอยู่ได้ในน้ำเค็ม ลักษณะคล้ายพืชทะเลทราย เนื่องจากไม่สามารถดูดน้ำนั้นไปใช้ได้สะดวกอย่างน้ำจืดจึงต้องเก็บกักน้ำที่ดูดขึ้นไปได้ไว้ในลำต้นให้ได้มากที่สุด เห็นได้จากลักษณะของใบซึ่งมักมีคิวตินเคลือบหนา มีปากใบแบบจมเพื่อลดการคายน้ำ และมักมีขนปกคลุมผิวใบทั้งนี้เพื่อป้องกันการระเหยของน้ำออกจากใบ บางชนิดมีการเก็บกักน้ำไว้ในเซลล์พิเศษของใบ ซึ่งทำให้ใบมีลักษณะอวบน้ำ นอกจากนี้เซลล์ของพืชในป่า ชายเลนยังมีความเข้มข้นของเกลือแร่สูงกว่าเซลล์ปกติทั่วไป รวมทั้งมีต่อมขับเกลือทำหน้าที่ควบคุมความเข้มข้นของเกลือแร่ในเซลล์ใบให้อยู่ในระดับปกติอีกด้วย เนื่องจากในป่าชายเลนมีการขึ้นลงของน้ำทะเลสม่ำเสมอ ดังนั้นดินในป่าชายเลนจึงมีน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ ทำให้ออกซิเจนในอากาศไม่สามารถแพร่กระจายลงสู่ดินได้ ซึ่งรากของต้นไม้ป่าชายเลนต้องการออกซิเจนเพื่อใช้ในการดำรงชีวิตและการเจริญเติบโต ดังนั้นต้นไม้จึงต้องพัฒนาวิธีการเพื่อที่รากของมันจะได้รับออกซิเจน ต้นไม้ป่าชายเลนส่วนมากจึงมีรากอากาศ (pneumatophores) โผล่พ้นเหนือดินทำให้ออกซิเจนจึงสามารถผ่านลงทางรากอากาศสู่รากที่อยู่ใต้ดินได้ ไม้ป่าชายเลนส่วนใหญ่ประกอบด้วยไม้สกุลโกงกาง (Rhizophora spp.) เป็นไม้เด่น และพันธุ์ไม้ชนิดอื่นอีกกว่า 78 ชนิด
Kathiresan (2013) ได้อธิบายรูปแบบโครงสร้างของป่าชายเลน โดยแบ่งได้อย่างกว้างๆ 6 แบบ ได้แก่
1. Overwash forests เป็นลักษณะป่าชายเลนที่ขึ้นบนที่ราบน้ำทะเลท่วมถึง เมื่อน้ำท่วมมีลักษณะคล้ายเกาะ และได้รับอิทธิพลจากกระแสน้ำขึ้นลงอย่างสม่ำเสมอ
2. Fringe forests เป็นลักษณะของป่าชายเลนที่อยู่บนชายฝั่งที่มีความลาดชันน้อย พบทั่วไปบริเวณชายฝั่งของแผ่นดินใหญ่และเกาะใหญ่ๆ มักพบป่าประเภทนี้อยู่บริเวณที่เป็นอ่าวเปิด และได้รับอิทธิพลจากคลื่นลมไม่แรง ป่าชายเลนประเภทนี้ถ้าพบบนเกาะจะอยู่เหนือระดับน้ำทะเลสูงสุด
3. Riverine forests เป็นลักษณะป่าชายเลนที่ขึ้นบนร่องน้ำ หรือทางน้ำจืดที่ไหลลงสู่ทะเล
4. Basin forests เป็นลักษณะป่าชายเลนที่เป็นพื้นที่ต่ำ น้ำท่วมและขังอยู่ มักพบขึ้นอยู่บนฝั่งที่ติดป่าบก สัมผัสกับน้ำจืดจากบนบก และน้ำกร่อยนานกว่าป่าชายเลนที่อยู่ตามชายฝั่ง ป่าชายเลนประเภทนี้มีพืชอิง-อาศัยขึ้นอยู่มาก เช่น กล้วยไม้|
5. Scrub/Dwarf forests เป็นลักษณะป่าชายเลนที่ขึ้นบนบริเวณที่มีปัจจัยจำกัดการเจริญเติบโต โดยทั่วไปจะเป็นไม้พุ่มเตี้ยๆ ประมาณ 2 เมตร มักพบในบริเวณที่แห้งแล้งกว่าบริเวณอื่น
6. Hammock forests เป็นป่าชายเลนที่มีลักษณะคล้าย Basin forests แต่ระดับความสูงของพื้นที่ป่าประเภทนี้จะมากกว่าป่าชายเลนประเภทอื่นๆ
โครงสร้างของป่าชายเลน
การแบ่งเขตของชนิดของไม้ป่าชายเลน (species zonation) ในป่าชายเลน
Watson (1928) ได้จัดแบ่งเขตไม้ป่าชายเลนในพื้นที่ทางด้านตะวันตกของประเทศมาเลเซียออกได้ 5 บริเวณ โดยมีความถี่ของน้ำทะเลท่วมถึงเป็นปัจจัยสำคัญในการแบ่งเขตไม้ป่าชายเลน ดังนี้
1. พื้นที่ที่มีน้ำทะเลท่วมถึงทุกครั้ง บริเวณนี้ไม่มีไม้ป่าชายเลนชนิดใดขึ้นได้ในสภาวะเช่นนี้ ยกเว้นโกงกางใบใหญ่
2. พื้นที่ที่มีน้ำทะเลท่วมถึงในขณะที่มีน้ำขึ้นสูงปานกลาง ไม้ป่าชายเลนที่ขึ้นบริเวณนี้เป็นพวกแสมขาว แสมทะเล ลำพูทะเลและโกงกางใบใหญ่
3. พื้นที่ที่มีน้ำทะเลท่วมถึงในขณะที่มีน้ำขึ้นสูงตามปกติ บริเวณนี้มีไม้ป่าชายเลนเจริญเติบโต ได้ดี โดยเฉพาะโกงกางจะขึ้นหนาแน่นมากกว่าชนิดอื่นที่พบในบริเวณนี้ นอกจากนี้ยังพบพวกโปรงแดง ตะบูนและถั่วดำ เป็นต้น
4. พื้นที่ที่มีน้ำทะเลท่วมถึงเมื่อน้ำขึ้นสูงสุดเท่านั้น บริเวณนี้จะมีสภาพที่แห้งเกินไปสำหรับไม้โกงกางจะขึ้นได้ แต่จะเหมาะสมกับพวกไม้ถั่ว ตะบูนและตาตุ่ม
5. พื้นที่ที่มีน้ำทะเลท่วมถึงเมื่อน้ำขึ้นสูงสุดเป็นพิเศษเท่านั้น ไม้ป่าชายเลนที่ขึ้นบริเวณนี้เป็นพวกพังกาหัวสุม หลุมพอทะเล หงอนไก่ทะเล ตาตุ่มและจาก เป็นต้น
การแพร่กระจายตัวของป่าชายเลน
ป่าชายเลนของประเทศไทยขึ้นอยู่กระจัดกระจายตามชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ โดยจะพบทั้งทางด้านฝั่งอ่าวไทย และฝั่งด้านทะเลอันดามัน ฝั่งอ่าวไทยในภาคกลางพบป่าชายเลนกระจายตัวบริเวณที่ติดกับชายฝั่งทะเลของจังหวัดสมุทรปราการ กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ และในภาคตะวันออกพบป่าชายเลนขึ้นแพร่กระจายอยู่ตามชายฝั่งทะเลของจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด และฉะเชิงเทรา ส่วนชายฝั่งภาคใต้ด้านตะวันออก จะพบตามปากน้ำและลำน้ำใหญ่ๆ ในจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี ในด้านทะเลอันดามันพบแนวป่าชายเลนยาวติดต่อกันตั้งแต่เขตจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล จังหวัดที่มีพื้นที่ป่าชายเลนมากที่สุดของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดพังงา สตูล กระบี่ และตรัง
การจำแนกประเภทของป่าชายเลนในประเทศไทยตามโครงสร้างของป่าชายเลนได้ดังนี้
1. ป่าชายเลนที่อยู่บริเวณปากแม่น้ำหรือน้ำกร่อย
ป่าชายเลนประเภทนี้พบขึ้นอยู่ตามริมแม่น้ำและร่องน้ำที่ได้รับอิทธิพลจากน้ำจืดมาก โดยพื้นที่ป่าชายเลนด้านที่ติดกับทะเล จะมีต้นไม้ขึ้นอยู่หนาแน่น และมีจำนวนชนิดต้นไม้มากกว่าบริเวณที่ห่างจากทะเลขึ้นไป หรืออยู่ทางด้านต้นน้ำจืด ได้แก่ ป่าชายเลนในอ่าวปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นป่าชายเลนที่ขึ้นอยู่ริมแม่น้ำใหญ่ คือ แม่น้ำปากพนัง คลองบางจากและคลองปากนคร ป่าชายเลนปากแม่น้ำกันตัง และแม่น้ำปะเหลียน จังหวัดตรัง ป่าชายเลนในจังหวัดระนอง และจังหวัดพังงา เป็นต้น
2. ป่าชายเลนที่อยู่ริมทะเล
ป่าชายเลนประเภทนี้จะพบตามบริเวณชายฝั่งหรือปากแม่น้ำสายเล็กๆ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากน้ำจืดน้อย หรือมีน้ำจืดไหลลงสู่บริเวณป่าชายเลนในปริมาณน้อย น้ำในป่าชายเลนประเภทนี้ส่วนใหญ่จะเป็นน้ำทะเล พื้นที่ป่าชายเลนประเภทนี้ ได้แก่ ป่าชายเลนที่พบขึ้นตามเกาะต่างๆ ซึ่งมีบริเวณขนาดเล็ก สง่าและคณะ (2530) ได้ทำการแบ่งเขตชนิดไม้ป่าชายเลนในประเทศไทยในแต่ละพื้นที่ ดังนี้
2.1 จังหวัดชุมพร มีกลุ่มชนิดไม้ป่าชายเลนขึ้นจากชายฝั่งน้ำลึกเข้าในป่าด้านในติดป่าดอน สรุปได้ดังนี้ บริเวณด้านนอกติดกับริมน้ำเป็นกลุ่มไม้ลำพู-แสม ถัดไปเป็นกลุ่มโกงกางใบใหญ่และตามด้วยกลุ่มโกงกางใบเล็ก-ถั่ว หลังไม้กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มไม้โปรง-ตะบูน หลังจากกลุ่มไม้โปรง-ตะบูนจะเป็นกลุ่มไม้ตาตุ่มและเป้ง ตามลำดับ
2.2 จังหวัดสุราษฎร์ธานี จากริมน้ำเป็นกลุ่มไม้โกงกาง-แสม ตามด้วยกลุ่มไม้โปรง-ตะบูน ถัดจากนี้จะเป็นกลุ่มไม้ตาตุ่มและกลุ่มไม้ฝาด
2.3 จังหวัดนครศรีธรรมราช จากริมน้ำเป็นกลุ่มไม้โกงกางใบเล็ก ถัดไปเป็นกลุ่มไม้โปรง-ตะบูน และตามด้วยกลุ่มไม้ฝาด และสุดท้ายจะเป็นกลุ่มไม้โปรง
2.4 จังหวัดปัตตานี จากริมน้ำเป็นกลุ่มไม้โกงกางใบเล็ก ตามด้วยกลุ่มไม้โกงกางใบเล็ก-ถั่ว และถัดเข้าไปจะเป็นกลุ่มไม้ตะบูน-ปรงทะเล
2.5 จังหวัดระนอง จากริมน้ำเป็นกลุ่มเล็บมือนาง-รังกะแท้ และถัดเข้าไปจะเป็นกลุ่มไม้ลำพู-แสม ตามด้วยกลุ่มไม้โกงกาง-ถั่ว และถัดจากกลุ่มนี้เข้าไปจะเป็นกลุ่มไม้โปรง-ตะบูนและกลุ่มไม้แสม และในเขตสุดท้ายจะเป็นกลุ่มไม้ฝาด และกลุ่มไม้เป้งตามลำดับ
2.6 จังหวัดพังงา จากริมน้ำเป็นกลุ่มไม้ลำพู-แสม และกลุ่มไม้โกงกางใบใหญ่ ตามด้วยกลุ่มไม้โกงกางใบเล็ก-ถั่ว ถัดจากกลุ่มนี้ไปเป็นกลุ่มไม้โปรง และกลุ่มไม้โปรง-ตะบูน สำหรับเขตสุดท้ายจะเป็นกลุ่มไม้ตาตุ่ม-เป้ง
2.7 จังหวัดกระบี่ จากริมน้ำเป็นกลุ่มไม้โกงกางใบใหญ่และโกงกางใบเล็ก ตามด้วยกลุ่มไม้โปรง และถัดไปเป็นกลุ่มไม้โปรง-ตะบูน ส่วนเขตสุดท้ายจะเป็นกลุ่มไม้ฝาดและเป้ง
2.8 จังหวัดตรัง จากริมน้ำเป็นกลุ่มไม้ลำพู-แสม และตามด้วยกลุ่มไม้โกงกางและกลุ่มไม้โปรง-ตะบูน จะขึ้นแนวหลังสุดของป่าชายเลน
2.9 จังหวัดสตูล จากริมน้ำเป็นกลุ่มไม้ลำพู-แสม ถัดไปเป็นกลุ่มไม้โกงกางและตามด้วยกลุ่มไม้โปรง-ตะบูน และกลุ่มไม้ฝาด ส่วนเขตสุดท้ายอยู่ติดกับป่าดอน เป็นกลุ่มไม้เสม็ดและบริเวณที่ป่าถูกทำลายจะมีปรงทะเลขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น ดังรูป
ประเภทของป่าชายเลนในประเทศไทยตามโครงสร้างของป่าชายเลน
สง่าและคณะ (2530) ได้สรุปไว้ว่า การขึ้นอยู่ของกลุ่มไม้ในสังคมป่าชายเลนมีความสัมพันธ์กับสภาพพื้นที่และปัจจัยสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน กล่าวคือ พวกไม้ลำพู-แสม จะเป็นไม้เบิกนำที่ชอบขึ้นอยู่ริมแม่น้ำ ลักษณะเป็นดินเลนมีทรายผสมและมีน้ำท่วมถึงเป็นประจำ ไม้โกงกางใบใหญ่และโกงกางใบเล็กจะชอบขึ้นอยู่ตามริมแม่น้ำซึ่งเป็นดินเลนหนา เป็นพื้นที่น้ำทะเลท่วมถึงเป็นประจำ เช่นเดียวกับพวกแสม-ลำพู พวกไม้ถั่วและไม้โปรงชอบขึ้นอยู่ในที่ดินเลนค่อนข้างแข็งมีน้ำทะเลท่วมถึงสำหรับไม้ฝาดและตะบูนชอบขึ้นในที่ดินเลนแข็ง และพื้นที่ระดับค่อนข้างสูงเล็กน้อย ส่วนพวกที่ชอบขึ้นอยู่บนพื้นที่เลนแข็งและมีน้ำทะเลท่วมถึงบางครั้งในรอบเดือน ได้แก่ กลุ่มไม้-ตาตุ่ม ไม้เสม็ด ไม้เป้ง สำหรับบริเวณที่ป่าชายเลนถูกถางและทำลายจะพบพวกปรงทะเลขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น