ขนาด
พะยูน
  • 19 กรกฎาคม 2556
  • 1,217
พะยูน สารสนเทศ ทช. ศูนย์ข้อมูลกลาง ทช.

ความผูกพันระหว่างคนไทยกับพะยูน

การตั้งชื่อสถานที่ด้วยชื่อเรียกพะยูน


แสดงหน้าตาพะยูนที่ชัดเจน

 
แสดงหน้าตาพะยูนที่ชัดเจน

          ในบ้านเรามีชื่อเรียกพะยูนหลายชื่อด้วยกัน คือ หมูน้ำ หมูดุด ดูหยง เงือก วัวทะเล และดูกอง “พะยูน หรือปลาพะยูน” เป็นชื่อที่นิยมใช้ทั่วไปในประเทศไทย (บางแห่งอาจเขียนเป็น “พยูน พยูร”) ส่วนชาวปักษ์ใต้นิยมเรียกพะยูนว่า “ดูหยง หรือ ตูหยง” ซึ่งมาจากภาษามาเลเซียที่ใช้เรียกพะยูน (Duyong, sea pig หรือหมูทะเล) ในภาษาเขียนบ้านเราในบางแห่งอาจเพี้ยนไปเป็น “ดุยง ดุหยง ตุยง หรือตุหยง” และชาวใต้ยังเรียกพะยูนอีกชื่อหนึ่งว่า “หมูน้ำ” ซึ่งอาจมาจากลักษณะของเนื้อพะยูนที่มีสีสันและรสชาดคล้ายเนื้อหมู อีกนัยหนึ่งอาจมาจากรูปร่างที่อ้วนพร้อมทั้งมีขนตามลำตัวและลักษณะการกินอาหารที่คล้ายหมูก็ได้

          สมัยก่อนพบพะยูนมากในทะเลไทยทั้งสองฝั่ง และคนไทยน่าจะมีความผูกพันกับพะยูนอย่างมากมาช้านานแล้ว อาจจะเป็นเพราะทั้งความน่ารักน่าสงสารของพะยูน การที่พะยูนเป็นสัตว์มีรูปร่างพิเศษ หรือมีเนื้อที่มีรสชาดดี รวมทั้งความเชื่อต่างๆ ที่มีเกี่ยวกับพะยูน หลักฐานความผูกพันของคนไทยกับพะยูน คือการนำชื่อที่ใช้เรียกพะยูนไปตั้งเป็นชื่อสถานที่ที่อยู่ติดกับชายฝั่งทะเล ได้แก่ คำว่า “พะยูน หมูดุด ตุหยง ดุหยง ตุยง” ชื่อสถานที่ต่างๆ เหล่านี้น่าจะถูกเรียกต่อๆ กันมานับร้อยปีแล้ว และในประเทศไทยคงไม่มีชื่อสัตว์ทะเลชนิดอื่นใดที่ถูกนำไปตั้งเป็นชื่อสถานที่มากเท่าชื่อพะยูน และยังไม่พบรายงานจากที่อื่นที่กล่าวถึงการนำชื่อพะยูนไปตั้งเป็นชื่อสถานที่

          นอกจากนี้ในจังหวัดตรังหลังจากเกิดกระแสการอนุรักษ์พะยูนอย่างกว้างขวาง กอร์ปกับเป็นแหล่งที่มีพะยูนอาศัยอยู่มากที่สุดในประเทศไทย พะยูนกลายเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของจังหวัดในการอนุรักษ์ (Flagship species) เมื่อปี 2539 มีการนำพะยูนไปเป็นสัตว์นำโชคในกีฬาแห่งชาติครั้งที่ 29 หรือ “พะยูนเกมส์” มีรูปพะยูนหรือรูปปั้นพะยูนอยู่มากมาย เช่น รูปปั้นพะยูนคู่หนึ่งที่หน้าทางเข้าอควาเรียมของสถาบันราชมงคล รูปปั้นพะยูนที่ฉางหลางรีสอร์ท หุ่นสต๊าฟพะยูนที่อุทยานแห่งชาติเจ้าไหม ที่สถาบันราชมงคล และที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดตรัง มีร้านค้าและสำนักงานหลายแห่งในตัวเมืองตรังนำคำว่าพะยูนไปเป็นชื่อร้าน เช่น สำนักทนายความ ร้านอาหาร บริษัทท่องเที่ยว (พะยูนทราเวล) ร้านถ่ายรูป (พะยูนเอ็กซ์เพลส) มีรูปพะยูนตามป้ายต่างๆ เช่น ป้ายหน้าโรงเรียนปาตูดูเป๊ะบนเกาะตะลิบง ป้ายหน้าอุทยานแห่งชาติเจ้าไหม ข้างรถตุ๊กตุ๊ก เป็นต้น

คำเรียกชื่อพะยูนต่างๆ และการนำไปตั้งเป็นชื่อสถานที่ต่างๆ

ชื่อเรียก  จังหวัด  อำเภอ ตำบล  หมู่บ้านและอื่นๆ
 หมูดุด  จันทบุรี  ท่าใหม่  คลองขุด  บ้านหมูดุด วัดหมุดุด โรงเรียนบ้านหมูดุด เขาหมูดุด
 พะยูน   ระยอง บ้านฉาง พลา  บ้านพยูน หาดพยูน โรงเรียนบ้านพยูน 
 พัทลุง ปากพะยูน   ปากพะยูน ตลาดปากพะยูน (หมู่ที่ 1) 
 ดุหยง กระบี่  เกาะลันตา  ศาลาด่าน  บ้านโล๊ะดุหยง (หมู่ที่ 5) 

เพลงพื้นบ้าน-รองเง็ง
          ทางฝั่งทะเลอันดามันและมาเลเซียตอนบน มีเพลงพื้นบ้านที่เรียกว่า “รองเง็ง” หรืออาจเรียกว่าลิเกป่า มีการผูกเพลงเป็นครกหรือบท ยกย่องพะยูนว่ามีคุณค่า เปรียบเทียบความรักระหว่างชายหญิงเหมือนความรักของพะยูนแม่ลูก ตัวอย่างตอนหนึ่งของเพลงพื้นบ้านรองเง็ง “.....คิดถึงสาวกินข้าวไม่ลง ถูกเสน่ห์น้ำตาดูหยง กินข้าวไม่ลงคิดถึงเจ้าทุกเวลา.....” ชาวน้ำหรือชาวเล เล่าว่า หากเป็นน้ำตาพะยูนของแท้ใส่ไว้ในขวดจะมีการขึ้นลงเหมือนน้ำทะเล และน้ำตาพะยูนที่ได้ผลเป็นเลิศต้องมาจากลูกพะยูนที่ตามหาแม่ ปกติพะยูนแม่-ลูกจะมีความผูกพันกันมาก หากลูกพะยูนติดอวนหรือถูกจับไป แม่พะยูนจะเที่ยวตามหาลูกของมัน และชาวประมงก็มักจะจับแม่พะยูนได้อีกตัวในเวลาต่อมา กล่าวได้ว่าชุมชนชายฝั่งทะเลหรือชาวประมงพื้นบ้านมีความผูกพันรักใคร่พะยูนอย่างมาก จนนำมาร้อยเรียงเป็นเพลงร้อง เพื่อความบันเทิงใจในยามค่ำคืน หรือยามมีงานบุญในหมู่บ้าน

เรื่องเล่าขานเกี่ยวกับพะยูน : ตำนานการเกิดพะยูน
          จากการสัมภาษณ์คนเฒ่าคนแก่ที่หมู่บ้านเจ้าไหม จ.ตรัง เล่าว่า เดิมทีพะยูนเป็นคน โดยเล่าว่า “มีสองสามีภรรยาที่อาศัยอยู่ชายฝั่งทะเล ต่อมาภรรยาได้ตั้งท้องและอยากกินของแปลกๆ ตามธรรมชาติของคนแพ้ท้อง ภรรยาต้องการกินลูกหญ้าทะเล สามีก็ไปเก็บมาให้กินทุกวัน จนกระทั่งภรรยาท้องแก่ใกล้คลอด ลูกหญ้าทะเลที่สามีหามาให้ไม่เพียงพอกับความต้องการของนาง นางจึงลงทะเลเพื่อไปเก็บลูกหญ้าทะเลกินเสียเองและมัวเพลิดเพลินกินอยู่จนลืมเวลาว่าน้ำกำลังขึ้น เมื่อถึงเวลาน้ำขึ้นเต็มที่นางจึงไม่สามารถกลับขึ้นมาได้ นางคงติดอยู่ในดงหญ้าทะเลนั้นเอง จนในที่สุดนางก็กลายร่างเป็นนางเงือกหรือพะยูน” บางคนเล่าเสริมว่า “สามีได้ตามลงไปในทะเลเพื่ออยู่กับภรรยาของตัวเอง แสดงให้เห็นถึงความรักของสามีภรรยาทั้งคู่”

ความเชื่อ

กระดูกพะยูนแกะเป็นรูปปลัดขลิก จำนวน 2 ชิ้น จาก จ.ภูเก็ต   แม้ว่าราคาของเนื้อพะยูนดูจะสูงกว่าเนื้อหมู เป็ด และไก่ก็ตาม แต่เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ที่ของที่ยิ่งหามาด้วยความลำบากยากเย็นหรือมีน้อยเหลือเกิน มักถูกเชื่อว่ามีประโยชน์มหาศาล เนื้อพะยูนก็เช่นกัน ชาวบ้านเชื่อว่าการกินเนื้อพะยูนทำให้มีพลังและเป็นเหมือนยาอายุวัฒนะ เนื้อพะยูนนำไปปรุงเป็นอาหารได้หลายอย่าง เช่น แกง ผัด ทอด เนื้อแดดเดียว และเนื้อเค็ม น้ำมันพะยูนใช้ทาแก้ปวดเมื่อยและแก้น้ำร้อนลวก น้ำตาเป็นยาเสน่ห์ ส่วนกระดูกฝนผสมกับน้ำมะนาวกินแก้พิษจากการถูกเงี่ยงหรือหนามของปลาแทง กระดูกใช้ทำเป็นเครื่องราง เขี้ยวทำหัวแหวน และหนังใช้ทำไม้เท้าในต่างประเทศ ก็มีความเชื่อเรื่องการใช้ประโยชน์จากชิ้นส่วนต่างๆของพะยูนเช่นกัน ชนพื้นเมืองในประเทศออสเตรเลียเชื่อว่าน้ำมันพะยูนใช้รักษาโรคต่างๆ ได้หลายโรค ในมาดากัสการ์เชื่อว่าน้ำมันพะยูนใช้รักษาโรคไมเกรนได้ หนังพะยูนใช้ทำเครื่องหนัง หรือนำไปต้มเคี่ยวจนได้กาว ส่วนเขี้ยวหรืองาพะยูนใช้ทำด้ามกริช เป็นของที่ระลึกหรือของฝาก


รูปพะยูนที่อยู่หัวเรือท่องเที่ยว
 
หัวแหวนที่ทำจากเขี้ยวพะยูน

จี้ห้อยคอทำจากฟันพะยูน
 
อวัยวะเพศผู้ของลูกพะยูนที่ตากแห้งเก็บไว้
องค์ความรู้ที่น่าสนใจ
  • คลื่นย้อนกลับ Rip Currents
    กระแสน้ำรูปเห็ด
  • ความหลากหลายชีวภาพ
    ความหลากหลายชีวภาพ
  • นกในเขตชายฝั่งทะเล
    นกในระบบนิเวศชายฝั่งทะเล
  • อุทยานใต้ทะเล
    อุทยานใต้ทะเล
  • พ.ร.บ. ทช.
    พ.ร.บ. ทช.
  • หาดในประเทศไทย
    จากการสำรวจแหล่งธรรมชาติประเภทหาดทรายทั่วประเทศ ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปี 2560 พบว่ามีชายหาดรวม 521 แห่ง กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ 21 จังหวัด โดยอยู่ทางฝั่งอ่าวไทย 360 แห่ง แบ่งเป็นชายหาดที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ (กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช) 49 แห่ง อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่นๆ เช่น ท้องถิ่น กองทัพเรือ และส่วนราชการอื่นๆ อีก 311 แห่ง สำหรับข้อมูลชายหาดฝั่งทะเลอันดามัน พบว่ามีชายหาด 161 แห่ง อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ 78 แห่ง นอกเขตอุทยานแห่งชาติ 83 แห่ง
  • ป่าชายหาดและป่าพรุ
    ป่าชายหาดและป่าพรุ
  • วาฬ/โลมา
    วาฬ/โลมา
  • ทุ่นในทะเล
    ทุ่นในทะเล