พะยูน
- 19 กรกฎาคม 2556
- 2,404
สถานภาพของพะยูนในประเทศไทย
พะยูน : Dugong, Dugong dugon (Müller, 1776)
ชื่ออื่นๆ : ดูหยง หมูดุด
สถานภาพ : สัตว์ป่าสงวน ตามพรบ. สงวนและคุ่มครองสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2535
IUCN : Vulnerable
CITES : Appendix I
จำนวนประชากรและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง : จำนวนพะยูนเฉลี่ยในประเทศไทย 240 ตัว แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงลดลง
ลักษณะเด่น : รูปทรงกระสวยคล้ายโลมา ด้านหลังลำตัวสีเทาอมชมพู หรือน้ำตาล โดยด้านท้องมีสีอ่อนกว่า ในวัยอ่อนลำตัวมีสีเทาอมชมพูและด้านท้องมีสีชมพู ริมฝีปากอยู่ด้านล่างโดยมีลักษณะกลมหนา โดยส่วนของจมูกและปากเรียกรวมกันว่า Muzzleมีขนสั้น ๆ กระจายทั่วลำตัวและขนเส้นใหญ่อยู่อย่างหนาแน่นบริเวณปาก ตาและหูมีขนาดเล็ก โดยไม่มีใบหู รูจมูกอยู่ชิดกันโดยมีลิ้นปิด โดยจะเปิดเฉพาะเวลาส่วนหัวหายใจเข้าเมื่อส่วนหัวโผล่พ้นน้ำ มีหัวนม (nipple) อยู่ด้านหลังของครีบข้างในทั้งสองเพศ โดยจะมีขนาดใกล้เคียงกันในวันเด็ก แต่ในตัวเต็มวัยตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าชัดเจน ส่วนหางมีลักษณะเป็นแฉกคล้ายโลมา สำหรับตัวผู้เมื่อเป็นตัวเต็มวัยจะมีเขี้ยวงอกพ้นริมฝีปากออกมา
ขนาดและน้ำหนัก : ยาวที่สุด 3.3 เมตร (ในประเทศไทยพบยาวที่สุด 2.87 เมตร) หนักที่สุด 400 กิโลกรัม (ในประเทศไทยพบหนักที่สุด 358 กิโลกรัม) ในเพศผู้และเพศเมียขนาดไม่ต่างกันมาก ขนาดแรกเกิด 1-1.5 เมตร และหนักประมาณ 20 กิโลกรัม (ในประเทศไทยเคยพบขนาดเล็กที่สุด 0.97 เมตร หนัก 14 กิโลกรัม)
อาหารและถิ่นอาศัย : พะยูนกินหญ้าทะเลชนิดต่างๆเป็นอาหาร โดยกินสาหร่ายเป็นบางครั้ง พะยูนในธรรมชาติกินอาหาร 3-5% ของน้ำหนักตัวต่อวัน แต่พะยูนในที่เลี้ยงสามารถกินอาหารได้มากถึง 10% ของน้ำหนักตัวต่อวัน พะยูนจะอาศัยอยู่บริเวณใกล้ฝั่งที่มีแหล่งหญ้าทะเล
ชีววิทยาและพฤติกรรม : พะยูนเริ่มเข้าวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 9-10 ปี ระยะเวลาตั้งครรภ์ 13-14 เดือน ให้ลูกครั้งละ 1 ตัว ลูกพะยูนแรกเกิดจะหัดกินหญ้าทะเลพร้อมกินนมแม่ ซึ่งแม่พะยูนจะดูแลลูกประมาณ 2 ปี พะยูนมีอายุยืนยาวประมาณ 70 ปี โดยปกติมักพบพะยูนอยู่เป็นกลุ่มเล็ก 5-6 ตัว จนถึงฝูงขนาดใหญ่ขนาดมากกว่า 100 ตัว ภายในฝูงพะยูนจะพบลักษณะความเป็นสังคมสูง แต่บางครั้งก็พบพะยูนหากินเพียงตัวเดียว พะยูนว่ายน้ำได้เร็วเฉลี่ย 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนใหญ่จะว่ายน้ำเป็นระยะทางสั้นๆ
จากข้อมูลปี พ.ศ.2552
พบว่า พะยูนมีการแพร่กระจายทั้งสองฝั่งของประเทศไทย เริ่มจากทางฝั่งตะวันออกของอ่าวไทยตั้งแต่สุดชายแดนติดกับประเทศกัมพูชาในจังหวัดตราด ไล่มาที่จังหวัดจันทบุรี ระยอง จนถึงจังหวัดชลบุรี ส่วนฝั่งตะวันตกของอ่าวไทยตำแหน่งเหนือสุดอยู่ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และที่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ไปจนถึงจังหวัดปัตตานี หรืออาจถึงจังหวัดนราธิวาส เพราะในประเทศมาเลเซียก็พบพะยูนในทะเลฝั่งนี้เช่นกัน ส่วนฝั่งทะเลอันดามัน พบกระจายในพื้นที่จังหวัดระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรัง และสตูล บริเวณที่พบมากที่สุดคือบริเวณเกาะลิบง และเกาะมุกด์ จังหวัดตรัง
พะยูนทางฝั่งอ่าวไทย
จากหลักฐานการพบเห็นพะยูนกล่าวได้ว่า ยังมีพะยูนอาศัยอยู่จากจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ไปจนถึงจังหวัดตราด ในฝั่งทะเลด้านตะวันออก และที่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และปัตตานี จากฐานข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปี พ.ศ.2522-2546 พบซากพะยูนตายเนื่องจากติดอวนลอยในจังหวัดระยองถึงร้อยละ 16 รองลงมาคือบริเวณจังหวัดตราด ร้อยละ 9 ซึ่งบริเวณฝั่งอ่าวไทยพบซากพะยูนถึง 9 จังหวัดด้วยกัน คือ ตราด จันทบุรี ระยอง ชลบุรี ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลาและปัตตานี เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2546-2547 มีการสำรวจพบพะยูนที่อ่าวมะขามป้อม จังหวัดระยอง และที่บริเวณบ้านสะพานหินถึงบ้านไม้รูด จังหวัดตราด จากข้อมูลกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในปี พ.ศ.2552 ได้มีการประเมินประชากรสัตว์ทะเลหายาก ในกลุ่มพะยูนทางฝั่งอ่าวไทยพบว่ามีประชากรประมาณ 35 ตัว ซึ่งน้อยกว่าประชากรของพะยูนทางฝั่งทะเลอันดามัน โดยประชากรของพะยูนที่พบแบ่งเป็นบริเวณอ่าวไทยตะวันออก ตั้งแต่จังหวัดชลบุรีถึงตราดพบ 20 ตัว อ่าวไทยตอนกลาง ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ถึงสุราษฎร์ธานีพบ 10 ตัวและอ่าวไทยตอนล่าง ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชถึงนราธิวาสพบ 5 ตัว จากข้อมูลสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งและป่าชายเลน ในปี พ.ศ.2553 รายงานว่าพบพะยูนบริเวณแนวหญ้าทะเลในพื้นที่ร็อคการ์เด้นรีสอร์ท (อ่าวมะขามป้อม) อำเภอแกลง จังหวัดระยอง
พะยูนทางฝั่งทะเลอันดามัน
มีการสำรวจพะยูนมากทางฝั่งทะเลอันดามัน สุวรรณและคณะ (2536) ได้ทำการสำรวจพะยูนทางอากาศ (aerial survey) ครั้งแรกที่จังหวัดตรัง และต่อมา กาญจนาและคณะ (2540, 2542) และ Hines and Adulyanukosol (2001) ได้ประเมินประชากรพะยูนที่จังหวัดตรังในปี พ.ศ.2544 ว่ามีจำนวน 123 ตัว ส่วนในจังหวัดอื่นๆ ทางฝั่งทะเลอันดามันยังมีพะยูนอาศัยอยู่เป็นกลุ่มเล็กๆ ระหว่าง 1-18 ตัว ตั้งแต่จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ไปจนถึงจังหวัดสตูล จากข้อมูลกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในปี พ.ศ.2552 ได้มีการประเมินประชากรสัตว์ทะเลหายาก ในกลุ่มพะยูนพบว่ามีประชากรประมาณ 200 ตัว จากข้อมูลสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งและป่าชายเลนในปี พ.ศ.2553 ได้ทำการสำรวจและติดตามประชากรพะยูนบริเวณที่พบมากที่สุดคือบริเวณเกาะลิบง และเกาะมุกด์ จังหวัดตรัง พบจำนวนสูงสุด 129 ตัว และจำนวนต่ำสุด 42 ตัว (ฐานข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สืบค้นที่ http://www.dmcr.go.th/marinecenter/, เข้าถึงเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2555)
จากรายงานสถานภาพทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2550 – 2554 สามารถสรุปภาพรวมสถานสถานภาพพะยูนในประเทศไทย ได้ดังนี้
บริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันออก
พบพะยูนมีจำนวนรวม 14-21 ตัว บริเวณหาดไม้รูดและ เกาะกูด จังหวัดตราด และปากน้ำประแส จังหวัดระยอง และจันทบุรี มีจำนวนประชากรพะยูนคงที่ ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนบนพบพะยูนจำนวน 4-6 ตัว บริเวณอ่าวสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ในขณะที่บริเวณอ่าวไทยตอนกลางพบพะยูนบริเวณอ่าวทุ่งคา-สวี จังหวัดชุมพร จำนวน 2-3 ตัว และบริเวณอ่าวพุมเรียง อำเภอไชยา เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อ่าวดอนสัก) และนครศรีธรรมราช (อ่าวขนอม) จำนวน 20-30 ตัว และบริเวณอ่าวไทยตอนล่างพบพะยูนบริเวณอ่าวปัตตานี จังหวัดปัตตานี จำนวน 1-2 ตัว ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของประชากรพะยูนในพื้นที่
บริเวณทะเลอันดามันตอนบน
พบพะยูนบริเวณหาดทรายดำ จังหวัดระนอง จำนวน 10-15 ตัว เกาะพระทอง เกาะยาว อ่าวพังงา
จังหวัดพังงา จำนวน 20-25 ตัว และบริเวณอ่าวปากคลอก อ่าวตังเข็น และอ่าวฉลอง จังหวัดภูเก็ต จำนวน 3-5 ตัว ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของประชากรพะยูนในพื้นที่ ส่วนในบริเวณทะเลอันดามันตอนล่างพบพะยูนแพร่กระจายบริเวณเกาะปู เกาะศรีบอยา จังหวัดกระบี่จำนวน 15-20 ตัว บริเวณอ่าวเจ้าไหม เกาะมุกต์ เกาะลิบง เกาะสุกร จังหวัดตรัง จำนวน 135-150 ตัว และบริเวณเกาะลิดี เกาะสาหร่าย จังหวัดสตูล จำนวน 5-10 ตัว