ขนาด
พะยูน
  • 25 สิงหาคม 2556
  • 3,350
พะยูน สารสนเทศ ทช. ศูนย์ข้อมูลกลาง ทช.

การดำรงชีวิตของพะยูน

พฤติกรรมการกินอาหารของพะยูน
          สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน ได้ศึกษาแยกชนิดของหญ้าทะเลในกระเพาะพะยูน ตัวอย่างพะยูนที่ได้รับมีหญ้าทะเลอยู่ในกระเพาะ 2-5 % ของน้ำหนักตัว แม้ว่าจะพบว่าพะยูนไม่ได้เลือกกินหญ้าทะเลชนิดใดชนิดหนึ่งโดยเฉพาะ แต่พะยูนจะกินหญ้าชนิดที่พบมากในแหล่งที่มันอาศัยหากินอยู่ ในแต่ละกระเพาะมีหญ้าทะเลปะปนอยู่ 5-6 ชนิด และสาหร่ายทะเลอีกจำนวนเล็กน้อย จากตัวอย่างทั้งหมดที่ศึกษาพบหญ้าทะเล 9 ชนิด (ในประเทศไทยมีหญ้าทะเล 12 ชนิด) ได้แก่ หญ้าอำพัน หญ้าเงาใส หญ้าชะเงาหรือหญ้าคาทะเล กุยช่ายทะเล กุยช่ายเข็ม หญ้าชะเงาเต่า หญ้าชะเงาใบมน หญ้าชะเงาใบฟันเลื่อย และต้นหอมทะเล หญ้าทะเลที่พบมากในกระเพาะคือ หญ้าอำพันหรือหญ้าใบมะกรูด กุยช่ายทะเล หญ้าชะเงาใบมนและใบฟันเลื่อย

dugong-food01

หญ้าชะเงาใบฟันเลื่อย (Cymodocea serrulata)

dugong-food02

หญ้าคาทะเล (Enhalus acoroides)

dugong-food03

หญ้าอำพัน หรือหญ้าใบมะกูด (Halophila ovalis)

          จากการสำรวจแหล่งหญ้าทะเล และได้สังเกตพฤติกรรมของพะยูน ที่เกาะตะลิบง จังหวัดตรัง พบว่า พะยูนจะเริ่มเข้ามาหากินหญ้าทะเลในช่วงที่น้ำทะเลกำลังขึ้น และกินหญ้าทะเลอยู่นานราว 2-3 ชั่วโมง พะยูนจะกินหญ้าทะเลพร้อมทั้งขึ้นมาหายใจทุกๆ 1-2 นาที และจึงดำลงไปกินหญ้าทะเลต่อ บางตัวจะกินหญ้าทะเลต่อในบริเวณใกล้ๆ ที่เดิม ในขณะที่บางตัวจะว่ายน้ำเปลี่ยนที่ไปประมาณ 1-5 เมตร โดยที่ลักษณะทิศทางการกินหญ้าทะเลของพะยูนไม่แน่นอน มีทั้งการหันด้านหัวสู่ชายฝั่ง หันหัวออกทะเล ลำตัวขนานกับชายฝั่ง หรือลำตัวทำมุมเฉียงกับชายหาด ซึ่งพะยูนส่วนใหญ่ที่พบจะกินหญ้าทะเลอยู่ห่างจากชายฝั่งมากกว่า 1 กิโลเมตร ในขณะที่น้ำลงมากพะยูนจะไปอาศัยอยู่ในร่องน้ำห่างชายฝั่งประมาณ 4-5 กิโลเมตร (สังเกตพบเห็นพะยูนอยู่ในร่องน้ำหลังน้ำลงประมาณ 2 ชั่วโมง) ซึ่งสอดคล้องกับกับการศึกษาของสุวรรณและคณะ (2536) โดยพะยูนอาจจะกินหญ้าทะเลในช่วงน้ำขึ้น ทั้งกลางวันและกลางคืน โดยพะยูนที่เกาะปาเลาส่วนใหญ่จะเข้ามากินหญ้าทะเลในตอนกลางคืน เพื่อหลีกเลี่ยงจากอันตรายจากคนและสิ่งแวดล้อมอย่างอื่น สำหรับตอนเหนือของรัฐควีนแลนด์ประเทศออสเตรเลียพบว่าพะยูนจะเข้ามากินหญ้าทะเลในตอนกลางวัน และจะกินหญ้าทะเลวันละประมาณ 30 กิโลกรัม โดยใช้ปากเล็มหรืองับทั้งต้นพืชแล้วส่ายล้างสิ่งเกาะติดอื่นๆ แล้วกลืนทันทีโดยไม่เคี้ยว พะยูนอาจจะอาศัยประจำถิ่นหรือเคลื่อนย้ายถิ่นตามฤดูกาล และพบว่าแม่และลูกพะยูนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันเป็นอย่างมาก ทั้งในขณะหากินและในขณะที่ว่ายน้ำ ลูกพะยูนและแม่จะว่ายน้ำหากินอยู่ใกล้ๆ กัน บางครั้งอาจจะห่างกันแต่จะอยู่ในรัศมีประมาณ 1 เมตร ขณะที่ขึ้นมาหายใจพร้อมกันลูกพะยูนจะอยู่ชิดช้างลำตัวแม่ หรืออยู่บนหลังของแม่ และขณะที่กำลังว่ายน้ำออกจากแหล่งหญ้าทะเลก็จะว่ายอยู่เคียงกันตลอด จากการติดตามสังเกตพฤติกรรมการกินหญ้าทะเลของแม่และลูกพะยูน พบว่าลูกพะยูนจะโผล่ขึ้นมาหายใจบ่อยกว่าแม่พะยูน โดยในขณะที่แม่พะยูนกำลังกินหญ้าทะเลอยู่ ลูกพะยูนโผล่ขึ้นมาหายใจ 2-3 ครั้ง แล้วแม่พะยูนจึงโผล่ขึ้นมาหายใจครั้งหนึ่ง (กาญจนา และคณะ, 2540)

การอนุบาลพะยูน
          ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รายงานการอนุบาลพะยูนในบ่ออนุบาลจากทั่วโลก พบว่าพะยูนเป็นสัตว์ที่อนุบาลได้ยากในบ่ออนุบาลหรือในที่ล้อมขัง มักอนุบาลอยู่ได้ไม่นานและตายในที่สุด พะยูนที่อนุบาลได้ระยะเวลาสั้นที่สุดเพียง 17 วัน คือ ในประเทศออสเตรเลียเมื่อปี ค.ศ. 1968 ในประเทศอินเดียอนุบาลได้นาน 10 ปีกับ 10 เดือนในระหว่างปี ค.ศ. 1959-1970 ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการครองอันดับในการอนุบาลพะยูนในที่ล้อมขังได้ยาวนานที่สุดในโลกจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2547) คือ ที่ Toba Aquarium ประเทศญี่ปุ่นอนุบาลพะยูนสองตัวมานานกว่า 25 ปี และยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยให้พะยูนกินหญ้าทะเลชนิดหญ้าปลาไหล (Zostera marina) ซึ่งสั่งซื้อมาจากประเทศเกาหลี แต่อย่างไรก็ตาม Toba Aquarium ยังไม่ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์พะยูนในตู้อนุบาล ซึ่งผิดกับมานาตีที่อนุบาลง่ายและสามารถให้ลูกในตู้อนุบาลได้ ในขณะที่สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สามารถอนุบาลได้นาน 30-200 วัน นอกจากนี้ยังมีบันทึกว่ามีการอนุบาลลูกพะยูนอีก 2 ตัว คือในปี พ.ศ. 2525 ลูกพะยูนอนุบาลไว้ที่ศูนย์พัฒนาการเพาะอนุบาลสัตว์น้ำชายฝั่ง จังหวัดสตูล แต่ไม่มีรายงานระยะเวลาในการอนุบาลพะยูน สาเหตุการเสียชีวิต หรือการปล่อยคืนทะเล และพะยูนอีกตัวหนึ่งเป็นลูกพะยูนติดอวนลอยที่หาดเจ้าไหม เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2538 และได้ปล่อยกลับกลับทะเลหลังอนุบาลไว้ในกระชังราว 20 วัน ลูกพะยูนที่อนุบาลชอบกินหญ้าอำพันหรือใบมะกรูด (Halophila ovalis)

รูปพะยูนในตู้อนุบาลที่ Toba Aquarium ประเทศญี่ปุ่น และ รูปพะยูนที่ได้รับการอนุบาลนาน 200 วัน พ.ศ. 2534 ณ สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน จังหวัดภูเก็ต

 

อายุของพะยูน
          พะยูนมีอายุยืนยาวมากถึง 70 ปี การทำนายอายุของพะยูนต้องศึกษาจากเขี้ยวของพะยูน (เขี้ยวเป็นฟันชนิดหนึ่ง) ตลอดชีวิตพะยูนมีฟันกรามทั้งหมด 6 คู่ โดยจะทยอยขึ้น ต่อมาจะสึกกร่อน และหลุดไป พะยูนที่อายุมากๆ มีฟันเหลืออยู่ในช่องปากเพียง 2-3 คู่เท่านั้น ฟันของพะยูนทำหน้าที่ในการบดเคี้ยวหญ้าทะเล การบดเคี้ยวอาหารของลูกพะยูนไม่ดีเท่าพะยูนที่โตแล้ว เพราะฟันมีพื้นที่หน้าตัดน้อยกว่าพะยูนที่โตแล้ว นอกจากนี้ตั้งแต่แรกเกิดพะยูนยังมีฟันตัดบนส่วนหน้าของขากรรไกรบนอีก 2 คู่ หรือที่เราเรียกว่าเขี้ยวหรืองา (tusk) โดยเขี้ยวคู่หน้าซึ่งมีขนาดเล็กจะสึกร่อนและหลุดไปเมื่ออายุ 12-15 ปีขึ้นไป ส่วนเขี้ยวคู่หลังมีอยู่ตลอดชีวิตของพะยูน ดังนั้นเขี้ยวพะยูนจึงมีความสำคัญมากในการหาอายุของพะยูน เพราะเป็นฟันชนิดเดียวที่มีอยู่ตั้งแต่แรกเกิดและคงอยู่ตลอดชีวิต ในเพศผู้เขี้ยวงอกพ้นผนังริมฝีปากออกมาเล็กน้อยเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ สันนิษฐานกันว่าพะยูนเพศผู้ใช้เขี้ยวในการต่อสู้แย่งตัวเมียหรือยึดเกาะตัวเมียในขณะผสมพันธุ์ และมีหลักฐานบ่งชี้การต่อสู้ คือรอยแผลเป็นตื้นๆ เป็นคู่ๆ ที่ปรากฏบนหลังพะยูน ซึ่งระยะห่างของแผลใกล้เคียงหรือเท่ากับระยะห่างระหว่างเขี้ยวทั้งสองข้างของพะยูน

dugong-age03 dugong-age04
ลักษณะเขี้ยวพะยูนอายุ 1-6 ปี เขี้ยวของพะยูนอายุระหว่าง 14-43 ปี
dugong-age03 dugong-age04
เขี้ยวเพศผู้ที่งอกพ้นริมฝีปากออกมาเล็กน้อย รอยแผลบนหลังพะยูนที่เกิดจากเขี้ยว เป็นรอยแผลตื้นๆ

การหาอายุพะยูน
          ทำโดยการนับชั้นการเจริญเติบโตของเนื้อฟัน (dentine) ในเขี้ยวพะยูน ลักษณะชั้นการเจริญเติบโตคล้ายกับวงปีในต้นไม้ หนึ่งชั้นเท่ากับอายุหนึ่งปี เริ่มจากการนำเขี้ยวพะยูนมาผ่าครึ่งตามความยาวของเขี้ยวโดยใช้เลื่อยรอบต่ำ (low speed saw) ฝนให้เรียบด้วยกระดาษทรายเบอร์หยาบไล่ไปหาเบอร์ละเอียดที่สุด กัดด้วยกรดอ่อนๆ แล้วสามารถนับชั้นการเจริญเติบโตได้ จากการศึกษาอายุของพะยูนในประเทศไทยจำนวน 12 ตัว ความยาวพะยูนอยู่ระหว่าง 1.60-2.73 เมตร เขี้ยวพะยูนยาว 1.6-21.0 ซั่วโมง พบว่า พะยูนที่อายุมากที่สุดคือ 43 ปี เป็นพะยูนเพศเมียจากเกาะกำ จังหวัดระนอง มีความยาว 2.71 เมตร และหนัก 293 กิโลกรัม (Adulyanukosol      et. al, 1998) ข้อมูลดังกล่าวสามารถนำมาสร้างได้กราฟความสัมพันธ์ระหว่างความยาวของพะยูนกับอายุ เพื่อทำนายอายุพะยูนคร่าวๆ โดยเมื่อรู้ความยาวพะยูนเป็นเมตร ก็เปรียบเทียบดูอายุจากกราฟ แต่ในกรณีนี้ไม่สามารถใช้กับพะยูนที่มีความยาวมากกว่า 2.5 เมตร เพราะพะยูนที่โตเต็มที่แล้วมีอายุ 10 ปีขึ้นไป มีความยาวไม่เปลี่ยนแปลงมากนักอยู่ในช่วงระหว่าง 2.5-3 เมตร

รูปกราฟแสดงความสัมพันธ์ระหว่างความยาวของพะยูนกับอายุ เสียงของพะยูน (acoustic voice of dugong)

          จากการศึกษาวิจัยเรื่องเสียงพะยูนของสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ในการศึกษาเบื้องต้นได้มีการติดตั้ง stereo hydrophone ที่เรือสังเกตการณ์แต่ละลำ จำนวน 2 ลำ เพื่อบันทึกเสียงในน้ำและได้ทำการวิเคราะห์หาระดับความดังเสียง ระยะเวลาต่อเนื่อง และคลื่นความถี่กลางของเสียงร้องจากไฟล์เสียงที่ได้มาจากการบันทึกเสียง ขั้นตอนต่อไปเป็นการวิเคราะห์หาค่าต่างของเวลาที่มาถึงของเสียงร้องระหว่างสองช่อง (channel) และคำนวณทิศทางที่มาถึง (arrival bearing) ของเสียงร้อง ช่วงความถี่ของเสียงร้องของพะยูนอยู่ที่ 3-8 kHz และระยะเวลาต่อเนื่องแยกออกเป็นช่วงสั้นที่ 100-500 ms และช่วงยาวซึ่งมีเสียงร้องนานกว่า 1000 ms โดยประมาณ

          ระยะเวลาห่างระหว่างการส่งเสียงร้องแต่ละครั้งมีสองแบบคือ ระหว่าง 0-5 วินาที และนานกว่า 2 วินาที ส่วนทิศทางที่มาถึงของเสียงร้องนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปตามการเคลื่อนที่ของพะยูนจากการคำนวณทิศทางที่ส่งมาถึงของเสียงร้องนั้น จะเปลี่ยนแปลงไปตามการเคลื่อนที่ของพะยูนจากการคำนวณทิศทางที่ส่งมาถึงของเสียงร้องเดียวกันจากหลายๆ จุดทำให้สามารถตรวจวัดตำแหน่งของพะยูนได้อย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบันกำลังผลิต voice data logger ที่สามารถทำการบันทึกในน้ำได้โดยอัตโนมัติและมีกำหนดจากที่จะสร้างเครือข่าวสำรวจพะยูนโดยใช้ logger ดังกล่าวนี้ (ฐานข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

การสืบพันธุ์ของพะยูน
          พะยูนไม่ได้ผสมพันธุ์ตามฤดูกาล พะยูนเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 9-10 ปีในทั้งสองเพศ ระยะตั้งท้องนาน 13-14 เดือน (รายงานบางฉบับระบุว่าใช้เวลาประมาณ 385-400 วัน) คลอดลูกครั้งละหนึ่งตัว ลูกพะยูนแรกเกิดยาว 1 - 1.2 เมตรและหนักอยู่ในช่วง 20 – 35 กิโลกรัม น้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 20 กิโลกรัม หลังจากคลอด แม่พะยูนจะดันลูกให้ขึ้นสู่ผิวน้ำทันที แล้วชะลอลูกไว้บนหลังในช่วงแรกๆ เพื่อหัดให้ลูกพะยูนหายใจและว่ายน้ำ โดยจะค่อยๆ จมตัวเองและลอยขึ้นเป็นจังหวะ ลูกแรกเกิดกินนมจากแม่พร้อมทั้งเริ่มหัดกินหญ้าทะเล และอาศัยอยู่ใกล้ชิดกับแม่ตลอดเวลาเป็นเวลาประมาณปีครึ่งถึงสองปี โดยทั่วไปลูกพะยูนจะหย่านมแม่หลังจากอายุ 1 ปีไปแล้ว พะยูนอายุ 1 ปี จะมีความยาวประมาณ 1.8 เมตร เมื่อมีศัตรูลูกอ่อนจะว่ายน้ำหลบอยู่บนหลังของแม่ ช่วงอายุในการสืบพันธุ์ยังไม่แน่ชัดนักและจากการสำรวจคาดว่าฤดูกาลการคลอดลูกของพะยูนอยู่ระหว่างเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม สำหรับการศึกษาถึงฤดูกาลคลอดลูกของพะยูน ในประเทศออสเตรเลียพบว่าจะอยู่ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนธันวาคมและกว่าแม่พะยูนจะมีลูกได้อีกครั้งหนึ่งจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี อายุขัยเฉลี่ยของพะยูนอยู่ในช่วงประมาณ 45-70 ปี (กรณีที่อายุยืนยาวตามธรรมชาติ) พะยูนตัวเต็มวัยมีความยาวประมาณสามเมตร ในขนาดความยาวเท่าๆ กัน และตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้เล็กน้อย

การปรับตัวของพะยูน
          พะยูนมีรูปแบบการป้องกันตัว 2 ลักษณะ คือ การว่ายน้ำหนีลงร่องน้ำ หากพะยูนรู้สึกว่าถูกคุกคามจะค่อยๆ เคลื่อนที่ลงร่องน้ำใกล้เคียงแล้วว่ายออกสู่ที่ลึก หากตกใจพะยูนจะว่ายหนีอย่างรวดเร็วโดยใช้ครีบหางโบกอย่างเร็ว ส่วนครีบหน้าหุบไว้ข้างตัว โดยมีความเร็วระหว่าง 30 – 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนพะยูนที่มีลูกอ่อนจะว่ายน้ำช้ากว่า อาจเนื่องจากต้องรอลูกซึ่งว่ายน้ำได้ไม่เร็วนัก และการป้องกันตัวอีกรูปแบบหนึ่ง คือ การกบดานอยู่นิ่งๆ การป้องกันตัวแบบนี้พบได้เพียงหนึ่งครั้งจากการสังเกตุพะยูนบริเวณแหลมหยงหลำ ที่น่าสนใจคือพะยูนมีเทคนิคที่ซับซ้อนขึ้นในการพรางตัว คือ เมื่อพะยูนได้รู้ว่าอาจมีการรุกราน พะยูนตัวหนึ่งใช้หางโบกพัดพื้นทรายอย่างแรงจนตะกอนฟุ้งขึ้น แต่พะยูนก็ไม่ได้เคลื่อนที่ไปที่ใด และอาศัยกบดานนิ่งอยู่ที่พื้นบริเวณที่ตะกอนฟุ้งกระจายอยู่นั่นเอง พะยูนมีการมองเห็นที่ไม่ดีมากนัก แต่การรับรู้เกี่ยวกับเสียงกลับดีมากเป็นพิเศษ พะยูนนอกจากจะสามารถแยกชนิดของแหล่งกำเนิดเสียงได้แล้ว ยังสามารถแยกทิศทางของเสียงได้อีกด้วย ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในการหลบหลีกอันตรายหรือศัตรู

องค์ความรู้ที่น่าสนใจ
  • PMBC Research Bulletin
    PMBC Research Bulletin
  • หาดในประเทศไทย
    จากการสำรวจแหล่งธรรมชาติประเภทหาดทรายทั่วประเทศ ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปี 2560 พบว่ามีชายหาดรวม 521 แห่ง กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ 21 จังหวัด โดยอยู่ทางฝั่งอ่าวไทย 360 แห่ง แบ่งเป็นชายหาดที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ (กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช) 49 แห่ง อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่นๆ เช่น ท้องถิ่น กองทัพเรือ และส่วนราชการอื่นๆ อีก 311 แห่ง สำหรับข้อมูลชายหาดฝั่งทะเลอันดามัน พบว่ามีชายหาด 161 แห่ง อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ 78 แห่ง นอกเขตอุทยานแห่งชาติ 83 แห่ง
  • พื้นที่อนุรักษ์
    หมายถึง พื้นที่มีคุณค่าทางธรรมชาติ นิเวศ หรือวัฒนธรรมที่ควรจะอนุรักษ์ไว้สำหรับลูกหลานในอนาคต พื้นที่คุ้มครองถูกกำหนดขึ้นตามกฎหมายหรือกฎระเบียบอื่นๆ เพื่อให้เกิดการจัดการในรูปแบบต่างๆ เช่น อุทยานแห่งชาติ ป่าสงวน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า การจัดการของพื้นที่คุ้มครองจะมีความหลากหลาย ตั้งแต่พื้นที่ที่มีการจำกัดการเข้าถึงของประชาชนจนถึงพื้นที่ ที่ประชาชนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ในระดับต่างกัน พื้นที่คุ้มครองครอบคลุมทั้งพื้นที่บนบกและในทะเล
  • น้ำมันรั่วไหล
    การเกิดน้ำมันรั่วไหล (Oil spill) ในทะเล และชายฝั่งอาจเกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ การขุดเจาะและขนส่งน้ำมัน การเดินเรือ การล้างถังอับเฉาเรือ ลักลอบทิ้งน้ำที่มีน้ำมันปนเปื้อนหรือน้ำมันที่ใช้แล้ว
  • เต่าทะเล
    เต่าทะเล
  • พะยูน : มาเรียม
    พะยูน : มาเรียม
  • นกในเขตชายฝั่งทะเล
    นกในระบบนิเวศชายฝั่งทะเล
  • ปะการัง
    เป็นแนวหินปูนใต้ทะเลในระดับน้ำตื้นที่แสงแดดส่องถึง หินปูนดังกล่าวเป็นผลมาจากการเจริญเติบโตของปะการังหลายๆ ชนิด นอกจากนี้ ยังมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
  • ป่าชายหาดและป่าพรุ
    ป่าชายหาดและป่าพรุ