ขนาด
พะยูน
  • 19 กรกฎาคม 2566
  • 162
พะยูน สารสนเทศ ทช. ศูนย์ข้อมูลกลาง ทช.

สถานภาพพะยูน (2564)

          พะยูนแพร่กระจายอยู่ในบริเวณแหล่งหญ้าทะเลทั้งฝั่งทะเลอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดตรังซึ่งถือเป็นแหล่งประชากรพะยูนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จากการสํารวจจํานวนประชากรพะยูนระหว่างปี พ.ศ. 2550 – 2554 พบพะยูนเฉลี่ยทั้งพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน จํานวน 240 ตัว ต่อมาใน ปี พ.ศ. 2557 พบพะยูนประมาณ 200 ตัว ปี พ.ศ. 2559 พบพะยูนรวมประมาณ 221 ตัว ปี พ.ศ. 2560 พบพะยูนรวมประมาณ 221 ตัว แบ่งเป็นพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยประมาณ 30 ตัว และพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันประมาณ 191 ตัว ปี พ.ศ. 2561 พบพะยูนรวมประมาณ 250 ตัว แบ่งเป็นพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยประมาณ 19 ตัว และพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันประมาณ 231 ตัว ปีงบประมาณ 2562 สํารวจพบพะยูนรวมประมาณ 261 ตัว แบ่งเป็นพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยประมาณ 24 ตัว และพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันประมาณ 237 ตัว ปีงบประมาณ 2563 สํารวจพบพะยูนรวมประมาณ 255 ตัว แบ่งเป็นพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยประมาณ 32 ตัว และพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันประมาณ 223 ตัว ในปีงบประมาณ 2564 ไม่สามารถบินสํารวจพะยูนในพื้นที่จังหวัดตรังที่เป็นแหล่งประชากรพะยูนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยได้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด - 19) จึงใช้วิธีการประมาณประชากรจากข้อมูลการสํารวจในพื้นที่สําคัญที่ผ่านมาร่วมกับพื้นที่การแพร่กระจาย ซึ่งรวมจากข้อมูลการพบเห็นและพื้นที่การเกยตื้นของพะยูน ซึ่งประมาณประชากรพะยูนได้ประมาณ 261 ตัว

จํานวนพะยูนที่พบต่อปีในประเทศไทย พ.ศ. 2557-2564 และพื้นที่การแพร่กระจายและจํานวนพะยูนในประเทศไทย ปีงบประมาณ 2564

          แม้ว่าจากการสำรวจจะพบว่าประชากรพะยูนมีแนวโน้มเพิ่มจํานวนมากขึ้นกว่าในอดีต แต่ปัจจุบันยังพบการเกยตื้นหรือการตายของพะยูนอยู่ทุกปี ซึ่งมีสาเหตุที่สำคัญ ได้แก่ การเจ็บป่วยด้วยสาเหตุต่าง ๆ ลูกพะยูนพลัดหลงจากแม่ หรือสาเหตุอื่น ๆ เช่น ถูกกระแทกด้วยของแข็ง เงี่ยงปลากระเบนแทง เครื่องมือประมง เป็นต้น ดังนั้น การผลักดันแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติจึงมีความสำคัญในการยกระดับการอนุรักษ์พะยูนและแหล่งที่อยู่อาศัยตามแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านทะเลและแผนปฏิรูปประเทศ ซึ่งแผนดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์และคุ้มครองพะยูนและแหล่งที่อยู่อาศัยในประเทศไทย และสนับสนุนการดําเนินงานศึกษาวิจัยพะยูนและแหล่งที่อยู่อาศัย รวมถึงการสร้างจิตสำนึกและส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และดูแลพะยูนและแหล่งที่อยู่อาศัยของท้องถิ่น

ปรับปรุงข้อมูล ณ วันที่ 19 กรกฎาคม 2566
องค์ความรู้ที่น่าสนใจ