ขนาด
พะยูน
  • 17 กรกฎาคม 2566
  • 321
พะยูน สารสนเทศ ทช. ศูนย์ข้อมูลกลาง ทช.

สถานภาพของสัตว์ทะเลหายาก (2564)

          สถิติการเกยตื้นของสัตว์ทะเลหายากในช่วง 10 ปีงบประมาณ พบสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นรวมจำนวน 5,536 ตัว คิดเป็นค่าเฉลี่ยปีละ 554±183 ตัว โดยพบว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 – 2563 มีแนวโน้มการเกยตื้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบการเกยตื้นของสัตว์ทะเลหายากมากที่สุดในปีงบประมาณ 2563 จำนวน 905 ตัว ส่วนในปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม พ.ศ. 2563 – กันยายน พ.ศ. 2564) พบการเกยตื้นลดลงเหลือ 828 ตัว ประกอบด้วย เต่าทะเล 506 ตัว (ร้อยละ 61) โลมาและวาฬ 294 ตัว (ร้อยละ 36) และพะยูน 28 ตัว (ร้อยละ 3) ทั้งนี้ในอนาคตคาดว่าแต่ละปีจะมีแนวโน้มสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่มีความเสื่อมโทรมลง รวมถึงปัจจัยความเสี่ยงที่เกิดตามธรรมชาติ และกิจกรรมการใช้ประโยชน์จากกิจกรรมทางทะเลของมนุษย์ นอกจากนี้จากความก้าวหน้าด้านการสื่อสารทําให้มีการแจ้งข้อมูลการเกยตื้นที่สะดวก รวดเร็วมากขึ้น และมีความตระหนักในการรับรู้ของชุมชนชายฝั่งที่เพิ่มมากขึ้นด้วย ส่งผลต่อจำนวนสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นที่เพิ่มมากขึ้นด้วย

รูปการเกยตื้นของสัตว์ทะเลหายากย้อนหลัง 10 ปี สัดส่วนการเกยตื้นของสัตว์ทะเลหายากแยกรายกลุ่มปีงบประมาณ 2564สัดส่วนการเกยตื้นของสัตว์ทะเลหายากแยกตามพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยงานศูนย์วิจัย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในปีงบประมาณ 2564

สาเหตุการเกยตื้น
          สัตว์ทะเลหายากที่พบเกยตื้นในปีงบประมาณ 2564 ส่วนใหญ่จะเสียชีวิตมาแล้วเมื่อได้รับแจ้งการเกยตื้น โดยพะยูนมีสัดส่วนของการเกยตื้นแบบเสียชีวิตหรือเป็นซาก ร้อยละ 86 โลมาและวาฬมีสัดส่วนของการเกยตื้นแบบเสียชีวิตหรือเป็นซาก ร้อยละ 91 ในขณะที่เต่าทะเลมีสัดส่วนของการเกยตื้นแบบเสียชีวิต หรือเป็นซาก ร้อยละ 62 และมีการเกยตื้นแบบมีชีวิต ร้อยละ 38

การเกยตื้นของพะยูน
          สถิติการเกยตื้นของพะยูนในช่วง 5 ปีงบประมาณ พบพะยูนเกยตื้นรวมจํานวน 97 ตัว คิดเป็นค่าเฉลี่ยปีละ 19±7 ตัว โดยพบว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 – 2564 มีแนวโน้มไม่คงที่ ซึ่งในปีงบประมาณ 2564 พบการเกยตื้นของพะยูน 28 ตัว เป็นการเกยตื้นแบบเสียชีวิต 24 ตัว (ร้อยละ 86) และพะยูนเกยตื้นมีชีวิต 4 ตัว (ร้อยละ 14)

          การเกยตื้นของพะยูนในปีงบประมาณ 2564 ส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุเนื่องจากสภาพซากเน่า ร้อยละ 50 และสามารถระบุสาเหตุการเกยตื้นได้ ร้อยละ 50 โดยสาเหตุการเกยตื้นจากจํานวนที่สามารถระบุได้ พบว่ามีสาเหตุมาจากการป่วยเป็นส่วนใหญ่ ร้อยละ 57 ซึ่งจากการผ่าชันสูตรพบว่ามักเกิดจากความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร และระบบทางเดินหายใจ สาเหตุรองลงมาคือ การได้รับบาดเจ็บจากเงี่ยงกระเบน ร้อยละ 15 นอกจากนี้ยังพบพะยูนถูกกระแทกด้วยของแข็ง ลูกพะยูนพลัดหลงจากแม่ ติดเครื่องมือประมง และบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางทะเลในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 7 ทั้งนี้อัตราการเกยตื้นจากสาเหตุการเจ็บป่วย มีแนวโน้ม เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2563 และไม่พบการเสียชีวิตของพะยูนจากขยะทะเลในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564

การเกยตื้นของโลมาและวาฬ
          สถิติการเกยตื้นของโลมาและวาฬในช่วง 5 ปีงบประมาณ พบโลมาและวาฬตื้นเกยตื้น รวมจํานวน 1,250 ตัว คิดเป็นค่าเฉลี่ยปีละ 250±45 ตัว โดยพบว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 – 2564 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม พ.ศ. 2563 – กันยายน พ.ศ. 2564) พบโลมาและวาฬตื้นเกยตื้น 294 ตัว เป็นการเกยตื้นแบบเสียชีวิตหรือซากเกยตื้น ร้อยละ 91 และเกยตื้นมีชีวิต ร้อยละ 9

          การเกยตื้นของโลมาและวาฬในปีงบประมาณ 2564 ส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุเนื่องจากสภาพซากเน่า ร้อยละ 70 และสามารถระบุสาเหตุของการเกยตื้นได้ ร้อยละ 30 โดยส่วนใหญ่มีสาเหตุจากการป่วย ร้อยละ 50 สาเหตุจากเครื่องมือประมง ร้อยละ 13 จากสาเหตุอื่น ๆ เช่น ถูกฉลามกัด ถูกกระแทกและอุบัติเหตุทางทะเล พลัดหลง ร้อยละ 36 และสาเหตุจากขยะทะเล ร้อยละ 1 ทั้งนี้สาเหตุการเกยตื้นจากการเจ็บป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนสาเหตุจากเครื่องมือประมงและขยะทะเลมีแนวโน้มลดลงจากปีงบประมาณ 2563

การเกยตื้นของเต่าทะเล
          สถิติการเกยตื้นของเต่าทะเลในช่วง 5 ปีงบประมาณ พบเต่าทะเลเกยตื้นรวมจํานวน 2,428 ตัว คิดเป็นค่าเฉลี่ยปีละ 486±153 ตัว โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งระหว่างปี พ.ศ. 2560–2563 พบการเกยตื้นของเต่าทะเลมากที่สุดในปีงบประมาณ 2563 (610 ตัว) ส่วนในปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม พ.ศ. 2563–กันยายน พ.ศ. 2564) พบเต่าทะเลเกยตื้น 506 ตัว โดยเป็นการเกยตื้นแบบเสียชีวิตหรือเป็นซาก ร้อยละ 62 และการเกยตื้นแบบมีชีวิต ร้อยละ 38

          การเกยตื้นของเต่าทะเลในปีงบประมาณ 2564 ส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุเนื่องจากสภาพซากเน่า ร้อยละ 53 และสามารถระบุสาเหตุของการเกยตื้นได้ ร้อยละ 47 โดยส่วนใหญ่มีสาเหตุจากการป่วย ร้อยละ 31 โดยเต่าทะเลที่เกยตื้นจากการเจ็บป่วย มักมีอาการอ่อนแรง จมน้ํา และมีภาวะทุพโภชนาการ สาเหตุรองลงมา คือ จากขยะทะเล ร้อยละ 26 โดยส่วนใหญ่มักพบว่าบริเวณรยางค์ และลําคอของเต่าทะเลจะถูกพันรัดด้วยขยะทะเล หรืออวนผีที่เกิดจากกิจกรรมทางการประมง ทําให้ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเอง ซึ่งอาจสูญเสียอวัยวะ หรือเสียชีวิต สาเหตุจากเครื่องมือประมง ร้อยละ 27 ซึ่งเครื่องมือที่มักจะกระทบต่อเต่าทะเล คือ เครื่องมือประเภทอวน เช่น อวนปู อวนปลาจาระเม็ด และจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น โดนใบพัดเรือ ถูกกระแทก การป่วยร่วมกับขยะทะเล และหลงทิศทาง ร้อยละ 16

การช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น
          กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้ความสําคัญกับการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นโดยมีการจัดตั้งศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก ซึ่งมีบุคลากรด้านสัตวแพทย์ นักวิชาการทางทะเล และอุปกรณ์ทางการแพทย์ จํานวน 7 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเลทั้งหมดของประเทศไทย การทํางานช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากยังเป็นการทํางานร่วมกับเครือข่ายทางทะเลและชายฝั่งซึ่งผ่านการอบรมหลักสูตรการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากเบื้องต้น ซึ่งมีจํานวนเครือข่ายมากกว่า 1,000 คน จากสถิติข้อมูลการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากย้อนหลัง 4 ปี คือ ปีงบประมาณ 2561 – 2564 พบว่ากลุ่มเต่าทะเลที่เกยตื้นมีชีวิตและได้รับการช่วยเหลือรักษาพยาบาลอนุบาลในสถานพักฟื้นของหน่วยงานภายใต้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีอัตรารอดชีวิตเฉลี่ย ร้อยละ 86 ส่วนกลุ่มโลมาและวาฬ มีอัตรารอดชีวิตเฉลี่ย ร้อยละ 59 และพะยูน มีอัตรารอดชีวิตเฉลี่ยร้อยละ 57

          สําหรับในปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม พ.ศ. 2563 – กันยายน พ.ศ. 2564) พบเต่าทะเลเกยตื้น 506 ครั้ง เป็นการเกยตื้นแบบเสียชีวิต ร้อยละ 62 เกยตื้นแบบมีชีวิต ร้อยละ 38 และมีอัตรารอดชีวิตจากการช่วยเหลือ และรักษาพยาบาล ร้อยละ 91 กลุ่มของโลมาและวาฬมีการเกยตื้น 294 ครั้ง เป็นการเกยตื้นแบบเสียชีวิต ร้อยละ 91 และเกยตื้นแบบมีชีวิต ร้อยละ 9 และมีอัตรารอดชีวิตจากการช่วยเหลือ ร้อยละ 67 สําหรับพะยูนพบเกยตื้น 28 ครั้ง เป็นการเกยตื้นแบบเสียชีวิต ร้อยละ 86 และเกยตื้นแบบมีชีวิต ร้อยละ 14 โดยมีอัตรารอดชีวิตจากการช่วยเหลือ ร้อยละ 75

สาเหตุการเกยตื้นของสัตว์ทะเลหายาก ปีงบประมาณ 2564 และผลการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากในปีงบประมาณ 2564

ปรับปรุงข้อมูล ณ วันที่ 17 กรกฎาคม 2566
องค์ความรู้ที่น่าสนใจ