สถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่ง จ.ระยอง
สถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่ง จ.ระยอง
การกัดเซาะชายฝั่ง หมายถึง การเปลี่ยนแปลงของตะกอนบริเวณชายฝั่งที่ถูกพัดพาออกไปจากตำแหน่งเดิมโดยตัวกลางๆ เช่น กระแสคลื่น กระแสลม น้ำขึ้นน้ำลง หรือภัยธรรมชาติที่ทำให้ตัวกลางเหล่านี้มีความรุนแรงมากกว่าปกติ นอกจากนี้การกัดเซาะอาจเกิดปริมาณตะกอนในแม่น้ำที่ไหลออกสู่ทะเลลดลง ทำให้ระบบหมุนเวียนของตะกอนไม่อยู่ในสภาวะสมดุลจึงส่งผลให้มีการกัดเซาะชายฝั่งมากขึ้น
สถานภาพการกัดเซาะชายฝั่ง (State)
จังหวัดระยอง มีพื้นที่ประมาณ 3,552 ตารางกิโลเมตร มีแม่น้ำสำคัญ 2 สาย คือ แม่น้ำระยอง ความยาวประมาณ 50 กิโลเมตร ไหลผ่านพื้นที่อำเภอปลวกแดง อำเภอบ้านค่าย และอำเภอเมือง แล้วไหลลงสู่ทะเลที่ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง และแม่น้ำประแสร์ ความยาวประมาณ 26 กิโลเมตร ไหลลงสู่ทะเลที่ตำบลปากน้ำประแสร์ อำเภอแกลง สำหรับชายทะเลทางด้านตะวันตก และด้านเหนือของจังหวัดระยองเป็นเขตอุตสาหกรรม เป็นที่ตั้งของโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก และยังเป็นเมืองท่องเที่ยวชายทะเลที่สำคัญ โดยทางด้านตะวันออกของจังหวัดเป็นเขตอุทยานแห่งชาติถึง 2 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง และอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด
สำหรับชายฝั่งทะเลของจังหวัดระยอง มีความยาว 105.61 กิโลเมตร โดยกึ่งกลางของปากแม่น้ำพังราดเป็นเขตแดนระหว่างชายฝั่งระยองด้านตะวันออกกับจังหวัดจันทบุรี ส่วนด้านตะวันตกมีคลองบางไผ่ เป็นเขตแดนต่อกับอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี แนวของชายฝั่งวางตัวอยู่ในทิศตะวันออก-ตะวันตก แล้วโค้งเข้ามาบรรจบกันตามลักษณะโครงสร้างธรณีวิทยา บริเวณตรงกลางของพื้นที่ชายฝั่งเกิดเป็นหัวแหลมยื่นออกไปในทะเลที่เขาแหลมหญ้า และเป็นช่องแคบประมาณ 3 กิโลเมตร ระหว่างแหลมหญ้ากับเกาะเสม็ดที่วางตัวอยู่ในแนวเกือบเหนือ-ใต้
ข้อมูลลักษณะชายฝั่งจังหวัดระยอง
ธรณีสัณฐานในชายฝั่งจังหวัดระยองมีหลายลักษณะโดยในอดีตเมื่อ 6,000 ปี ก่อนมีการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกทำให้ชายฝั่งมีลักษณะเป็นอ่าวหลายอ่าวต่อเนื่องกัน และมีการสะสมตัวของตะกอนทรายที่สวยงามปัจจุบันได้แก่ อ่าวไผ่ อ่าวทับทิม อ่าวนวล อ่าวช่อ อ่าววงเดือน อ่าวลุงดำ อ่าวหวาย ฯลฯ
ข้อมูลระบบหาด
ระบบกลุ่มหาด หมายถึง การแบ่งขอบเขตชายฝั่งเป็นหน่วยย่อยหรือเป็นเซลล์ เพื่อใช้ในการจัดการชายฝั่ง โดยหลักการกำหนดขอบเขตระบบกลุ่มหาดจะพิจารณาจากลักษณะธรณีสัณฐาน ลักษณะธรณีวิทยา ลักษะทางกายภาพ ได้แก่ หัวแหลม (Headland) ชายฝั่งหิน (Rocky Coast) และปากแม่น้ำ (Estuary) โดยขอบเขตชายฝั่งในหนึ่งเซลล์จะต้องมีสมดุลตะกอนของตัวเองและไม่มีการเคลื่อนย้ายตะกอนจากกลุ่มหาดหนึ่งไปสู่อีกกลุ่มหาดหนึ่ง จังหวัดระยอง อยู่ในระบบกลุ่มหาดพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก มีพื้นที่ระบบกลุ่มหาด 2 กลุ่มคือ E4 และ E5 รายละเอียดดังนี้
ข้อมูลระบบหาดจังหวัดระยอง
ข้อมูลสถานการณ์กัดเซาะชายฝั่ง
การกัดเซาะชายฝั่ง หมายถึง การเปลี่ยนแปลงของตะกอนบริเวณชายฝั่งที่ถูกพัดพาออกไปจากตำแหน่งเดิมโดยตัวกลาง เช่น กระแสคลื่น กระแสลม น้ำขึ้นน้ำลง หรือภัยธรรมชาติที่ทำให้ตัวกลางเหล่านี้มีความรุนแรงมากกว่าปกติ นอกจากนี้การกัดเซาะอาจเกิดปริมาณตะกอนในแม่น้ำที่ไหลออกสู่ทะเลลดลง ทำให้ระบบหมุนเวียนของตะกอนไม่อยู่ในสภาวะสมดุลจึงส่งผลให้มีการกัดเซาะชายฝั่งมากขึ้น
สถานภาพการกัดเซาะชายฝั่งในอดีต
จากข้อมูลการติดตามการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งและการศึกษาวางผังแม่บทการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และวางผังท่าเรือเพื่อรองรับการขยายพื้นที่อุตสาหกรรมชายฝั่งตะวันออกปี 2552 พบว่า แนวชายฝั่งทะเลดังกล่าวประสบปัญหาถูกกัดเซาะเป็นระยะทางประมาณ 21.75 กิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 20.82 ของความยาวชายฝั่งของจังหวัด โดยในจำนวนนี้มีแนวชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะระดับวิกฤต จำนวน 1 แห่ง ระยะทางประมาณ 1.17 กิโลเมตร คือ บริเวณชุมชนตากวน-อ่าวประดู่ ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง สำหรับจังหวัดระยองมีแนวชายฝั่งทั้งสิ้น 104.48 กิโลเมตร มีลักษณะชายฝั่ง
สถานภาพการกัดเซาะชายฝั่งปัจจุบัน
สำหรับสถานภาพการกัดเซาะชายฝั่งปัจจุบันพบว่า จังหวัดระยองได้มีการดำเนินการด้วยโครงสร้างรูปแบบต่างๆ และบางพื้นที่เป็นพื้นที่ๆมีการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล และตามธรรมชาติ โดยปัจจุบันชายฝั่งจังหวัดระยองมีระยะทางแนวชายฝั่งประมาณ 105.61 กิโลเมตร ซึ่งลักษณะชายฝั่งแยกเป็น หาดทราย 77.45 กิโลเมตร หาดโคลน 10.26 กิโลเมตร หาดทรายปนโคลน 7.98 กิโลเมตร หาดหิน 0.25 กิโลเมตร หัวหาด 8.52 กิโลเมตรและปากแม่น้ำ 1.15 กิโลเมตร
นอกจากนี้ยังสามารถจำแนกสถานการณ์ตามแนวชายฝั่งออกเป็นพื้นที่กัดเซาะปานกลาง (‹ 5 เมตร/ปี) 3.53 กิโลเมตร พื้นที่กัดเซาะน้อย (‹ 1 เมตร/ปี) 0.01 กิโลเมตร พื้นที่มีการดำเนินการแก้ไขแล้ว 22.87 กิโลเมตร พื้นที่สมดุล 59.85 กิโลเมตร พื้นที่สะสมมาก 0.65 กิโลเมตร พื้นที่สะสมน้อย 0.001 กิโลเมตร พื้นที่หัวหาด 8.52 กิโลเมตร พื้นที่ปากแม่น้ำ 1.15 กิโลเมตร และพื้นที่รุกล้ำ 8.88 กิโลเมตร
แผนงาน/โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง
โครงสร้างการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งจังหวัดระยองจากการรวบรวมแผนงาน/โครงการ จากหน่วยงานภาครัฐส่วนกลาง ได้แก่ กรมเจ้าท่า กรมโยธาธิการและผังเมือง หน่วยงานส่วนท้องถิ่น เพื่อนำมาประกอบการการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจังหวัดระยอง ในช่วงปีพ.ศ. 2561-2565
ข้อมูลการกัดเซาะชายฝั่งจังหวัดระยอง (ปี พ.ศ. 2560)
ข้อมูลลักษณะทางกายภาพจังหวัดระยอง (ปี พ.ศ. 2560)
ข้อมูลสถานการณ์ชายฝั่งจังหวัดระยอง ปี 2560
ข้อมูลโครงสร้างชายฝั่งจังหวัดระยอง (ปี พ.ศ. 2560)
แผนงาน/โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561-2565
สาเหตุที่มีผลกระทบต่อทรัพยากร (Pressure)
1. การกัดเซาะที่เกิดจากคลื่นและลมที่รุนแรง อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะของโลก ปริมาณน้ำฝนที่มากกว่าปรกติ คลื่นเป็นตัวการสำคัญในการเปลี่ยนแปลงลักษณะของตะกอนและทรายชายฝั่ง ลมพายุและมรสุม มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงแนวชายฝั่งตามธรรมชาติ ลมพายุขนาดใหญ่พัดเข้าสู่ชายฝั่งอ่าวไทยก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของแนวชายฝั่ง การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ส่งปริมาณตะกอนทดแทนมีปริมาณน้อย ปริมาณตะกอนจากทะเลพัดพาเข้าสู่ชายฝั่งลดลง การเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำ
2. การพัฒนาและการขยายตัวของแหล่งชุมชนชายฝั่ง ก่อให้เกิดสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทิศทางของกระแสน้ำ เช่น ท่าเทียบเรือ แหล่งที่อยู่อาศัยและการถมทะเล
3. ขาดการบริหารจัดการในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอย่างเหมาะสม
4. การพัฒนาชายฝั่งทะเลให้การเป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ที่พัก
5. ขาดความรู้ความเข้าใจในรูปแบบ หรือวิธีการในการจัดการป้องกัน และการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เช่น การเปลี่ยนแปลงทิศทางของกระแสน้ำมีผลต่อการพัดพาตะกอนกลับมาทดแทนตะกอนเก่าที่ถูกพัดพาไปบริเวณอื่นได้ โครงสร้างของแนวป้องกันการกัดเซาะไม่เหมาะสมกับพื้นที่
การดำเนินงาน มาตรการ และการแก้ไขปัญหา (Response)
1. บริหารจัดการพื้นที่และการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 รวมถึงกำหนดระเบียบ กฎเกณฑ์ มาตรการ สำหรับการใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม
2. ปลูกป่าไม้คลุมดินให้เหมาะสมกับพื้นที่ พื้นคลุมสามารถช่วยลดการพังทลายของชายฝั่งโดยชุมชนมีส่วนร่วม
3. สร้างแนวป้องกันชะลอความรุนแรงของคลื่นลมที่จะเข้ากระทบชายฝั่ง ตามความเหมาะสมของพื้นที่ และฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ สร้างโอกาสให้มีตะกอนสะสมมากขึ้น
4. ประเมิน ติดตามตรวจสอบพื้นที่ที่เกิดการกัดเซาะชายฝั่ง ทำการเก็บข้อมูล เพื่อจัดทำเป็นฐานมูล วิเคราะห์ปัญหาที่ทำให้เกิดการกัดเซาะนำเสนอนโยบายหรือแนวทางในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะโดยชุมชนมีส่วนร่วม
5. การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด
6. สร้างศักยภาพของหน่วยงาน สถาบัน และกลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาและการจัดการป้องกัน แก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อให้เกิดความเข้าใจในทุกประเด็นปัญหาที่อาจมีผลกระทบต่อเนื่องและร่วมมือกัน
7. ส่งเสริมให้ความรู้ ทำความเข้าใจและมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้มีความตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง
ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ
การจัดทำข้อมูลพื้นฐานมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการวางแผนการจัดการชายฝั่ง ข้อมูลที่จะนำมาใช้ต้องเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาและเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหา การให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการจัดการชายฝั่งเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการและทำข้อมูลพิ้นฐานจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดการและเป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วน
ข้อมูล : กองบริหารจัดการพื้นที่ชายฝั่ง
วันที่ : 7 พฤศจิกายน 2561