วาฬบรูด้า พฤติกรรม
เทคนิคที่วาฬบรูด้าใช้ในการล่าเหยื่อ มี 2 วิธี คือ
1. เทคนิคการปล่อยฟองอากาศออกมาเพื่อต้อนให้ฝูงปลารวมกลุ่มกัน เรียกว่า Bubble-net feeding
2. เทคนิคการว่ายต้อนปลาใกล้ผิวน้ำโดยการใช้หางตีน้ำ เรียกว่า Tail-slapping หรือ Lobtailing
ฝูงปลากะตักควาย อาหารของวาฬบรูด้า
โดยมีรายละเอียดของแต่ละเทคนิคในการล่าเหยื่อ ดังนี้
Lunge feeding
วาฬกลุ่ม Roquals จะกินอาหารแบบ Lunge feeding ได้แก่ พฤติกรรมที่พุ่งหรือใช้ส่วนหัวเสยขึ้นเหนือผิวน้ำเพื่องับเหยื่อ โดยทั่วไปมีการเสยขึ้นกินหลายรูปแบบ จากการศึกษาพฤติกรรมการกินอาหารตั้งแต่ปีพ.ศ. 2551-2554 สามารถแบ่งย่อยพฤติกรรม Lunge feeding ดังนี้
1. พุ่งส่วนหัวขึ้นมาเหนือผิวน้ำ แล้วทิ้งขากรรไกรล่างลงที่ผิวน้ำ ปกติฮุบหรืองับเหยื่อ 1 ครั้งแล้วจมตัวลง (ปล่อยให้น้ำไหลออกจากซี่กรอง แล้วกลืนอาหารเข้าไปข้างใน) ต่อจากนั้นจะขึ้นหายใจแต่บางครั้งพบมีการฮุบเหยื่อติดต่อกันหลาย ๆ ครั้ง มากที่สุดที่เคยบันทึกไว้คือ 11 ครั้ง ก่อนการจมตัวลงใต้น้ำ ตัวที่มีพฤติกรรมงับเหยื่อหลายครั้งตัวนี้คือ เจ้าจ๊ะเอ๋
ลักษณะการกินอาหารของวาฬบรูด้า โดยการเสยขึ้นไปเหนือน้ำ แล้วงับก้อนปลา
2. อ้าปากเสยขึ้นมาจากใต้น้ำและอ้าปากค้างอยู่ที่ผิวน้ำประมาณ 5-10 วินาที ก่อนจะงับปาก แล้วจมตัวลง แล้วขึ้นหายใจ
3. การอ้าปากตะแคงกินด้านข้าง มักพบในบริเวณน้ำตื้น (ประมาณ 4-5 ม.) มีการว่ายน้ำต้อนปลา แล้วอ้าปากเอียงด้านข้างฮุบเหยื่อ ส่วนใหญ่พบว่าตะแคงกินด้านขวา (ด้านขวาอยู่ข้างใต้)
ลักษณะการกินแบบตะแคง (Side feeding) ที่ผิวน้ำ มักจะเห็นครีบข้าง (Flipper) ด้วย
ลักษณะการกินแบบตะแคงที่ผิวน้ำ เป็นการกินแบบ Lunging แบบหนึ่ง พบว่ามักกินโดยมีด้านขวาของปากอยู่ด้านล่าง (Feeding on the right side)
4. อ้าปากกินอาหารโดยว่ายไปข้างหน้า บางตัวมีพฤติกรรมว่ายต้อนปลาใกล้ผิวน้ำ โดยการใช้หางตีน้ำ (Tail-slapping หรือ Lobtailing) แล้วกลับตัวอย่างรวดเร็วแล้วว่ายไปในทิศทางตรงกันข้ามเพื่อฮุบเหยื่อ
5. การกินใต้น้ำ บางครั้งจะสังเกตเห็นวาฬบรูด้ากินใต้น้ำข้าง ๆ เรือสำรวจ โดยการว่ายต้อนเหยื่อ หรือการใช้เทคนิค Bubble net feeding
ลักษณะการกินฝูงปลาใต้น้ำ
ขณะกินอาหาร ขากรรไกรล่าง (Lower jaws) ก็มีการกางออกมากที่สุดเกือบ 180o ข้อต่อระหว่างขากรรไกรล่างกับกระดูกคอมีความยืดหยุ่นสูงมาก ในขณะที่กินอาหารจะมีการกางออกของขากรรไกรล่างจากส่วนของมุมขากรรไกรล่างนี่เอง พร้อมกันนี้ด้านใต้คางจะมีการขยายของร่องใต้คางออกมากที่สุด (Expand the throat grooves) ทำให้เกิดพื้นที่ในปากกว้างมากที่สุด เพื่อที่จะได้สามารถจะรับปลาและน้ำทะเลเป็นตันๆ
เทคนิคการอ้าปากหรือการสั่นของส่วนจะงอยปาก (Rostrum) ไปด้วยนั้นคล้ายกับการทำให้เกิดแสงเงา เพื่อล่อให้ปลาเข้ามารวมกลุ่มกันมากขึ้น ปลาตัวเล็กๆ ส่วนใหญ่จะอยู่ในปากมากกว่าติดตามซี่กรอง และลิ้นทำกวาดเหยื่อทั้งหมดเข้าไปข้างในและกลืน
การที่วาฬโอมูร่ามีขากรรไกรล่างด้านขวาสีอ่อนกว่าด้านซ้าย อาจเป็นวิวัฒนาการเพื่อใช้ประโยชน์ในการหาอาหาร สีที่แตกต่างกันของซี่กรอง (Baleen plates) ในวาฬแต่ละชนิดนั้น ก็น่าจะมีส่วนช่วยในการทำให้ฝูงปลารวมตัวกันหนาแน่นขึ้น หรือตกใจกระโดดเข้าไปในปากวาฬ
ขณะกรองกินอาหาร จะใช้ลิ้น (สีชมพู) กวาดปลาเข้าไปด้านในของช่องปาก
Bubble-net feeding
ก่อนการอ้าปากฮุบก้อนเหยื่อนั้น จะว่ายต้อนปลา โดยมีเทคนิคการปล่อยฟองอากาศออกมาเพื่อต้อนให้ฝูงปลารวมกลุ่มกัน เรียกพฤติกรรมแบบนี้ว่า Bubble-net feeding หรือ Bubble feeding การสำรวจบางครั้งสามารถสังเกตเห็นฟองอากาศที่ วาฬพ่นขึ้นมาได้ชัดเจน วาฬหลังค่อม (Humpback whale) ใช้เทคนิค Bubble-net feeding โดยรวมตัวกันหลายตัวในการว่ายต้อนฝูงปลา
การกินอาหารโดยใช้เทคนิค Bubble-net feeding
ลักษณะฟองอากาศบนผิวน้ำที่สังเกตเห็นจาการสำรวจ ในขณะที่วาฬบรูด้าต้อนฝูงปลาให้รวมกันหนาแน่นเป็นก้อนใหญ่
Lobtailing
พฤติกรรมการใช้หางตีน้ำ Lobtailing น่าจะใช้ในการสื่อสารกัน ส่งสัญญาณ หรือหาอาหาร รูปแบบของพฤติกรรม Lobtailing นั้นคือ การใช้แพนหางตีน้ำจากด้านล่างหรือด้านข้าง ตีน้ำ 1 ครั้งหรือหลายครั้ง ซึ่งขึ้นกับชนิดของโลมาหรือวาฬ ส่วนใหญ่เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นกับร่วมกับ Breaching
วาฬชนิดที่ชอบแสดงพฤติกรรม lobtailing ได้แก่ วาฬหัวทุย (Sperm whale) วาฬหลังค่อม (Humpback whale) วาฬไรท์ (Right whale) และวาฬสีเทา (Gray whale) พบพฤติกรรมแบบนี้น้อยมากในวาฬมิงค์ (Minke whale) วาฬไซ (Sei whale) วาฬบรูด้า (Brydes whale) วาฬสีน้ำเงิน (Blue whale) และวาฬฟิน (Fin whale) Lobtailing ทำให้เกิดเสียงดัง บางครั้งจะแสดงเพียงครั้งเดียวหรือติดต่อกันหลายครั้งจนมากถึง 100 ครั้ง วาฬหลังค่อมน่าจะใช้ Lobtailing ในเรื่องการผสมพันธุ์และเลี้ยงลูก ส่วนใหญ่ลูกโลมาและวาฬจะไม่แสดงพฤติกรรมนี้
วาฬบรูด้าใช้หางตีน้ำ (Lobtailing) เพื่อช่วยต้อนฝูงปลา
พบพฤติกรรมการใช้หางตีน้ำ โดยการว่ายใกล้ผิวน้ำ โบกหางตีน้ำอย่างแรงหลายๆ ครั้ง เห็นน้ำกระจายและมีเสียงดัง การว่ายน้ำตีหางแบบนี้ทำให้ปลาตกใจและเข้ารวมฝูงกันหนาแน่นมากขึ้น ต่อจากนั้นวาฬก็ว่ายกลับตัวอย่างรวดเร็วมาในทิศทางตรงกันข้ามกับที่ว่ายน้ำตีหางมา แล้วโผล่ขึ้นมาอ้าปากที่ผิวน้ำก่อนจะฮุบฝูงปลา หรืออาจเสยกินแบบตะแคงตัวก็ได้
การกินอาหารแบบเสยขึ้นเหนือผิวน้ำ (Lunging) โดยการโผล่ส่วนหัวขึ้นมาก่อน แล้วอ้าปากและปล่อยขากรรไกล่างลงน้ำ เพื่อรับฝูงปลา