วาฬบรูด้า พฤติกรรม
- 5 ธันวาคม 2556
- 1,235
การออกลูกและการเลี้ยงดู
โลมาและวาฬเพศผู้เรียกว่า Bull เพศเมียเรียกว่า Cow และลูกเรียกว่า Calf ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่เป็นครอบครัว ยกเว้นแม่และลูกในขณะให้นม
โลมาและวาฬเพศเมียออกลูกครั้งละหนึ่งตัว โดยที่ส่วนหางจะออกมาก่อนส่วนหัว เพื่อป้องกันการจมน้ำ เมื่อส่วนหัวออกมาหลังสุด ลูกเกิดใหม่จะสามารถโผล่ขึ้นหายใจที่ผิวน้ำได้ทันที แม่ให้นมลูกโดยการฉีด (Squirting) น้ำนมที่มีมีความเหนียวเข้มข้นอุดมด้วยไขมัน มีลักษณะคล้ายยาสีฟันเข้าไปในปากของลูก
การให้นมลูกอาจนานมากกว่า 1 ปี โดยทั่วไปวาฬมีระยะสมบูรณ์เพศที่อายุ 7-10 ปี ส่วนวาฬบรูด้าเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุประมาณ 8-13 ปี ตั้งท้องนาน 11-12 เดือน และลูกหย่านมเมื่ออายุประมาณ 6 เดือน
สังเกตพบการขึ้นกินอาหารของลูกวาฬบรูด้าขนาดเล็ก (ความยาว 4-6 ม.) จะไม่สามารถใช้ส่วนหัวเสยขึ้นกินเหยื่อได้เหมือนแม่ ส่วนลูกบางตัวที่เสยกินเหยื่อได้แล้วนั้น ขณะกำลังเสยขึ้นกินปลาพบว่า ไม่ว่าลูกจะเสยขึ้นกินมาก่อนแม่ขึ้น หรือหลังจากแม่ขึ้นก็ตาม แต่ลูกจะจมตัวลงใต้น้ำก่อนแม่เสมอ และขณะที่คู่แม่ลูกเสยขึ้นอ้าปากที่ผิวน้ำ ลูกวาฬมักจะมีการโน้มตัวเข้าไปหาแม่ แต่ไม่ว่าจะขึ้นเสยกิน หรือเสยกินแบบตะแคง ลูกก็จะลงก่อนแม่เสมอ
ในกรณีที่ไม่ใช่คู่แม่-ลูก หรือคู่ที่ลูกมีขนาดใหญ่แล้ว มีการเสยกินพร้อมๆ กันทั้งคู่ แต่ไม่พบพฤติกรรมที่ตัวหนึ่งจะโน้มไปหาอีกตัวหนึ่งขณะอ้าปากที่ผิวน้ำ
วาฬคู่แม่-ลูกขึ้นกินอาหาร
จากการสังเกตคู่แม่ลูก แม่วันสุข และ เจ้าสุขใจ เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2554 พบว่าทั้งคู่ตะแคงตัวกินอาหาร โดย เจ้าสุขใจ จะอยู่ด้านหน้าหรือด้านท้อง (Ventral side) ของแม่ทุกครั้ง และการกินก็เป็นแบบถนัดขวา คือเอียงตัวลงทางด้านขวา
เจ้าสุขใจ จะขึ้นกินอาหารในตำแหน่งอยู่ด้านหน้า(Ventral side) ของ แม่วันสุข
พบว่าลูกวาฬสีน้ำเงินดื่มนมแม่วันละ 100 แกลลอน แม่ยังต้องดูแลลูกให้ปลอดภัย ดังนั้นแม่วาฬจึงต้องใช้พลังงานมากในการเลี้ยงลูกแต่ละครั้ง วาฬจึงเป็นสัตว์ออกลูกครั้งละเพียงตัวเดียวเท่านั้น
พฤติกรรมการกินนมของลูกวาฬ ใกล้ผิวน้ำ อาจสังเกตแพนหางซีกหนึ่งตั้งขึ้นเหนือผิวน้ำ ลักษณะแบบนี้เกิดขึ้นในขณะที่ลูกว่ายน้ำเอียงลำตัวโดยให้ปากไปอยู่ในตำแหน่งMammary slits ซึ่งตั้งอยู่ในส่วนด้านท้องของแม่ (ค่อนไปทางหาง)
จากการสำรวจแยกอัตลักษณ์ วาฬบรูด้าในปี พ.ศ. 2553-2554 พบวาฬ คู่แม่-ลูก จำนวนทั้งหมด 7 คู่ คือ 1) แม่สดใส-ลูกยังไม่ได้ตั้งชื่อเพราะไม่มีตำหนิที่สังเกตได้ 2) แม่กันยา-ลูกยังไม่ได้ตั้งชื่อเพราะไม่มีตำหนิที่สังเกตได้ 3) แม่วันสุข-เจ้าสุขใจ 4) แม่สีคราม-เจ้าสีฟ้า 5) แม่ตองอ่อน-เจ้าแตงไทย 6) แม่ข้าวเหนียว-เจ้าส้มตำ และ 7) แม่สาคร-เจ้าท่าจีน
เมื่อต้นปี 2554 พบว่า แม่สาคร แม่ข้าวเหนียว และ แม่ตองอ่อน มีลูกขนาดเล็กอยู่ด้วย แสดงว่าวาฬทั้งสามตัวนี้ตั้งท้องในปีที่ผ่านมา และเพิ่งออกลูกในต้นปีนี้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการสำรวจและสังเกตพฤติกรรมของวาฬกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง ย่อมทำให้ได้ข้อมูลที่ละเอียดและเป็นประโยชน์ในการอนุรักษ์ทั้งในประเทศและระดับสากล
วาฬคู่แม่-ลูกขึ้นกินอาหาร